นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ได้ ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการดำเนินการเป็น 0 บาทต่อวันและต่อเดือน จากเดิมสามารถเก็บเงินจากเที่ยวบิน ที่เป็นรายได้ 2,500 เที่ยวบินต่อวัน มีรายได้ 35 ล้านบาทต่อวัน และช่วงเริ่มเกิดโควิด-19 มีรายได้ 2-3 ล้านบาทต่อวัน ล่าสุดไม่มีเครื่องบินขึ้นลง ทำให้ไม่มีรายได้เป็นครั้งแรกในรอบ 72 ปี
“สาเหตุที่บริษัทมีรายได้ 0 บาท เพราะจากเดิมมีเที่ยวบินที่ทำให้ มีรายได้จำนวน 263 เที่ยวบิน (ข้อมูลวันที่ 2 เม.ย.) ที่ควรได้รับเงิน 3.1 ล้านบาทต่อวัน แต่บริษัทไม่ได้รับเงินดังกล่าว เนื่องจากทุกสายการบินประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) จึงมีมติให้บริษัทลดค่าบริการให้กับสายการบินที่บินเส้นทางภายในประเทศ ลง 50% สายการบินที่บินเส้นทางระหว่างประเทศ ลง 20% แม้ว่าจะลดค่าบริการแล้ว สายการบินยังมีการขอพักชำระหนี้ และขอไม่เสียค่าปรับจากการชำระล่าช้าอีกด้วย”
ขณะที่รายจ่ายของบริษัท ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 750 ล้านบาท คาดว่าในปีงบประมาณ 2563 บริษัทจะขาดทุน 4,200 ล้านบาท ล่าสุดได้มีมาตรการลดค่าใช้จ่าย อาทิ ชะลอการรับพนักงานใหม่ รวมทั้งได้ตัดรายได้บางส่วนของผู้บริหาร 6 เดือน ตั้งแต่ 30-50% ช่วยประหยัดงบได้ 13 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้เปิดเผยสถิติจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ แยกตามประเทศจุดหมายปลายทาง 15 ลำดับแรก ประจำไตรมาสที่ 1 พบว่ามีผู้โดยสารระหว่างประเทศรวม 15.67 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา 8.54 ล้านคน หรือ 35.3% ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศมากที่สุด 15 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วน 78% ของจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศทั้งหมด ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ผู้โดยสารระหว่างประเทศใน 15 ประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าลดลง อาทิ ประเทศจีนลดลง 59% จาก 5.98 ล้านคน เหลือ 2.43 ล้านคน, ญี่ปุ่น ลดลง 28% จาก 1.65 ล้านคน เหลือ 1.19 ล้านคน เป็นต้น.