The Issue : ตบมือให้แบงก์รัฐ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

The Issue : ตบมือให้แบงก์รัฐ

Date Time: 7 เม.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • ในยามวิกฤติที่คนไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไม่ทันตั้งตัว และไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า “ไวรัสโควิด–19” ตัวนี้ จะกลายเป็นตัวสร้างหายนะให้แก่สังคมและเศรษฐกิจโลก

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ในยามวิกฤติที่คนไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไม่ทันตั้งตัว และไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า “ไวรัสโควิด–19” ตัวนี้ จะกลายเป็นตัวสร้างหายนะให้แก่สังคมและเศรษฐกิจโลก ทำให้ประชาชนติดเชื้อโรคทะลุ 1 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 55,000 คน

ขณะที่ประเทศไทยเองก็ไม่สามารถหนีพ้นชะตากรรมดังกล่าวไปได้ โดยยอดล่าสุดมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ณ วันที่ 5 เม.ย.2563 สะสมเกินกว่า 2,100 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 23 ราย

ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของคนไทยทั้งประเทศต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยทำงานและได้รับโอที ณ วันนี้ได้หายวับไปกับสายลม ขณะที่คนหาเช้ากินค่ำ เช่น ลูกจ้างรายวัน หาบเร่แผงลอย ร้านค้าอาหารริมถนน วินมอเตอร์ไซค์ คนขับรถแท็กซี่ อีกนับล้านๆคน ก็ประสบกับปัญหาไม่แตกต่างกันมากนัก

ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยที่กำลังเกิดปัญหาต่างๆ มากมายในขณะนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า จากนี้ไป ชีวิตของคนไทยจะเหมือนเดิมหรือไม่ และหากไม่เหมือนเดิมแล้ว “เราจะอยู่กันอย่างไร”

เมื่อรายได้ลดลง แต่รายจ่ายอยู่เท่าเดิม เงินช่วยเหลือพิเศษจากรัฐบาลที่ได้เปิดให้ลงทะเบียนรับเงิน 15,000 บาท ภายในระยะเวลา 3 เดือน จะได้หรือไม่ได้ ยังคงต้องลุ้นกันต่อไป

ขณะที่มาตรการชุดที่ 3 ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ ผลจะออกมาเป็นชุดใหญ่ ดัง “ปัง ปัง” อย่างที่ “อุตตม สาวนายน รมว.คลัง” คุยฟุ้งว่า จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนมากน้อยแค่ไหน ก็ยังไม่มีความชัดเจน

แต่ผลงานที่โดดเด่น ต้องชื่นชมและตบมือให้ทันทีคือ การกล้าตัดสินใจพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยแบบอัตโนมัติให้แก่ลูกค้าทุกรายของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อผ่อนภาระหนี้ที่หนักอึ้งในช่วงวิกฤตินี้ ให้ทุเลาบรรเทาเบาบางลง ประกอบด้วย

ธนาคารออมสิน ธนาคารเฉพาะกิจรายแรก ที่ประกาศพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2563 ให้กับลูกหนี้เงินกู้ทุกรายที่ชำระหนี้ปกติ

รวมถึงลูกหนี้สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเคหะที่มีเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท และสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่มีเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 20 ล้านบาท ขณะที่ผู้ถือบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด จะลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำในปี 2563 ถึงปี 2564 โดยปีนี้จะลดลงเหลือ 5% จากเดิม 10% ปี 2565 จะชำระในอัตรา 8% และปี 2566 ผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% ก็ได้รับอานิสงส์ไปครั้งนี้ด้วย

โดยนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ประเมินว่ามาตรการดังกล่าว จะทำให้ธนาคารต้องสูญเสียรายได้ถึง 10,000 ล้านบาท แต่ช่วยชีวิตลูกหนี้ให้อยู่รอดต่อไปได้มากกว่า 3 ล้านคน

ติดตามมาด้วย ธนาคารกรุงไทย ล่าสุดได้พักชำระหนี้ให้ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจที่มีสถานะชำระปกติ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็มีโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 3 เดือนแบบอัตโนมัติเหมือนกัน โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.2563 เช่นเดียวกัน

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ ธสน. ประกาศอุ้มลูกค้า วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ 2% ต่อปีในปีที่ 1-2 ส่วนปีที่ 3-4 อยู่ที่ Prime Rate-1.25% และปีที่ 5-7 อยู่ที่ Prime Rate-0.25% (Prime Rate ณ 31 มีนาคม 2563 เท่ากับ 5.75%) ระยะเวลาชำระคืนสูงสุด 7 ปี ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. 2 ปีแรก และฟรีค่าธรรมเนียม Front end Fee

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) พักชำระเงินหนี้เงินต้นและอัตราดอกเบี้ย 3 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% เป็นเวลา 1 ปี

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ช่วยเหลือลูกค้าด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและชำระเฉพาะกำไรนาน 12 เดือน พร้อมยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดฯ

และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แม้จะไม่พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเหมือนกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งอื่นๆ แต่ก็มีมาตรการพิเศษช่วยเหลือลูกหนี้ให้ผ่อนส่งเงินต้นและดอกเบี้ย ให้ลดน้อยลง ประกอบด้วย 1.พักชำระเงินต้นระยะเวลา 3เดือน 2.พักชำระเงินต้นระยะเวลา 1 ปี และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน และ 3.พักชำระเงินต้นระยะเวลา 6 เดือน พร้อมลดดอกเบี้ยเหลือ 3.90% ต่อปี เป็นต้น.

วรรณกิจ ตันติฉันทะวงศ์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ