งบกลาง 96,000 ล้านเหี้ยน รัฐบาลควานหากระสุนเพิ่ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

งบกลาง 96,000 ล้านเหี้ยน รัฐบาลควานหากระสุนเพิ่ม

Date Time: 30 มี.ค. 2563 09:10 น.

Summary

  • งบกลางในมือนายกรัฐมนตรี 96,000 ล้านบาทเหี้ยน หลังถูกใช้สู้วิกฤติโควิดและรับมือภัยแล้ง สำนักงบเตรียมเสนอ ครม. แก้ปัญหา หวั่นไม่มีเงินอัดฉีดมาตรการใหม่ๆ

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

งบกลางในมือนายกรัฐมนตรี 96,000 ล้านบาทเหี้ยน หลังถูกใช้สู้วิกฤติโควิดและรับมือภัยแล้ง สำนักงบเตรียมเสนอ ครม. แก้ปัญหา หวั่นไม่มีเงินอัดฉีดมาตรการใหม่ๆ ระบุทางออกมีตั้งแต่ออก พ.ร.ก.กู้เงิน หรือออกเป็น พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณ จากส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 มี.ค.2563 จะรายงานสถานการณ์งบประมาณปี 2563 ให้ ครม.รับทราบ หลังจากงบกลาง ซึ่งถือเป็นเงินสภาพคล่องของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีสามารถนำมาใช้ได้ยามฉุกเฉินและจำเป็น เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม รวมทั้งในช่วงที่เกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนี้งบกลางมีรายจ่ายที่ผูกพันไว้ใกล้เต็มจำนวน 96,000 ล้านบาทแล้ว หากไม่มีการตัดสินใดๆ รัฐบาลจะไม่มีเงินนำมาใช้จ่ายในมาตรการใหม่ๆได้

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายปี 2563 มีวงเงินทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มีเจ้าของ หรือ ส่วนราชการที่ขอตั้งงบประมาณเอาไว้หมดแล้ว โดยแบ่งออก 1 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณที่ได้ใช้จ่ายไปพลางก่อน เนื่องจากงบประมาณปี 2563 ล่าช้ากว่าที่กำหนด จากเดิมที่ต้องเริ่มปีงบประมาณในเดือน ต.ค.2562 กลายเป็นสามารถใช้จ่ายได้จริงเมื่อปลายเดือน ก.พ.2563

ส่วนเงินจำนวน 2.2 ล้านล้านบาทที่เหลือ แบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำประมาณ 1 ล้านล้านบาท เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง และอุปกรณ์ครุภัณฑ์ รวมถึงรายจ่ายอื่นๆที่ผูกพันไว้จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2563 และอีก 1.2 ล้านล้านบาท เป็นงบลงทุนประมาณ 640,000 ล้านบาท งบกลาง 96,000 ล้านบาท ตลอดจนรายจ่ายที่ได้ผูกพันเอาไว้ทุกๆปี เช่น การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นต้น จึงไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่มีเงินหรือถังแตก

งบประมาณปี 2563 ถึงแม้จะเบิกจ่ายได้ล่าช้ากว่าที่กำหนด แต่ทั้งหมดมีการกำหนดรายจ่ายเอาไว้อย่างชัดเจน กรณีที่นักการเมืองระบุว่าให้ตัดงบประมาณออกมา 10% จากงบประมาณทั้งหมด 3.2 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด-19 เป็นเงินประมาณ 300,000 ล้านบาทนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ”

ที่ผ่านมามติ ครม.เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2563 มีคำสั่งให้ส่วนราชการบริหารเงินงบประมาณ กรณีที่ไม่ได้ใช้จ่ายและให้ตัดออกไป เนื่องจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เช่น การงดเดินทางไปร่วมประชุม หรือสัมมนาต่างประเทศ โดยขอให้ตัดงบบริหารก้อนนี้ในอัตราส่วน 10% และให้ย้ายเงินดังกล่าวมาไว้ที่งบกลาง เพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีส่วนราชการใดระบุว่าสามารถตัดงบบริหารได้

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า การวางแผนใช้จ่ายเงินงบประมาณหลายปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีปัญหาเท่าปีนี้ โดยเฉพาะงบกลางจำนวน 96,000 ล้านบาท ที่สำนักงบประมาณตั้งไว้เป็นงบฉุกเฉินเพื่อให้นายกรัฐมนตรีใช้เป็นสภาพคล่องในยามฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งน่าจะเพียงพออย่างแน่นอน แต่ปีนี้ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 และยังมีปัญหาเรื่องภัยแล้งซ้ำเติมเข้าไปอีก งบกลางที่เตรียมไว้จึงมีไม่เพียงพอ

“นอกจากนี้ ยังมีคนเสนอให้ดึงเงินจากงบลงทุน 640,000 ล้านบาทมาใช้จ่ายก่อน ผมตอบได้เลยว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและผู้อำนวยการสำนักงบประมาณต้องติดคุกคนแรกแน่นอน เพราะ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณกำหนดเอาไว้ว่า งบลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งเม็ดเงินจำนวน 640,000 ล้านบาทดังกล่าวถือเป็น 20.1%”

มติ ครม.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 ได้ขอใช้งบกลางเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากไวรัสโควิด-19 และภัยแล้งไปประมาณ 18,000 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้ก็มาจากงบกลางของนายกรัฐมนตรี และมติ ครม.ในวันเดียวกัน ก็ใช้งบกลางอีก 45,000 ล้านบาท เพื่อแจกเงินให้แก่ประชาชนคนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 15,000 บาท และยังมีเงินสนับสนุนเพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้คนซื้อบ้านของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท ทำให้งบกลางหมดลงอย่างรวดเร็ว”

สำหรับแนวทางการแก้ไขเพื่อให้งบกลางมีเพียงพอกับการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาเรื่องของการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน แต่มีหลายประเด็นที่ต้องตีความว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินได้หรือไม่ โดยมาตรการ 140 กำหนดว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงินจะทำได้เฉพาะรายจ่ายที่อนุญาตตามงบประมาณเท่านั้น ซึ่งหากยึดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว หมายความว่าจะไม่สามารถทำได้ เพราะรายจ่ายฉุกเฉินที่จะใช้ในเรื่องอะไรบ้างนั้น ไม่ได้มีการระบุไว้ในงบประมาณ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น

ขณะที่มาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า สามารถดำเนินการได้ทันทีกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็น แต่เรื่องดังกล่าวอาจจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณานาน เพราะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแต่ในส่วนของสำนักงบประมาณมีแผนสำรอง โดยจะขอให้ ครม. เสนอออกกฎหมาย พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณจากส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ทัน มาไว้ที่งบกลาง ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา สำนักงบประมาณได้เคยเสนอให้รัฐบาลชุดที่แล้วใช้วิธีการนี้และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ใช่ จึงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ครม.ว่า จะเลือกแผนไหนในการเติมเงินให้แก่งบกลาง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ