ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งรถยนต์ไฟฟ้า ลุ้นปี 2573 มีการผลิต 7.5 แสนคัน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งรถยนต์ไฟฟ้า ลุ้นปี 2573 มีการผลิต 7.5 แสนคัน

Date Time: 12 มี.ค. 2563 08:30 น.

Summary

  • ที่ประชุมบอร์ดยานยนต์ไฟฟ้าได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนเร่งขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ภายใน 5 ปีในอาเซียนนับจากนี้ไป

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดยานยนต์ไฟฟ้า) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดยานยนต์ไฟฟ้าได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนเร่งขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ภายใน 5 ปีในอาเซียนนับจากนี้ไป โดยมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ไปหารือกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการก้าวผ่านไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการลงทุนเกิดขึ้นในระยะเร่งด่วน ได้แก่ การใช้รถยนต์อีวีในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ และรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษ (วินสะอาด)

“ประเทศไทยต้องก้าวไปสู่ศูนย์กลางอีวีแห่งอาเซียน จึงขอให้ทุกฝ่าย ไปเร่งลดอุปสรรคต่างๆและสร้างตลาดให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจเลือกซื้อมาใช้งาน ผลักดันให้เกิดการลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้า และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องไปดูมาตรการสนับสนุนว่าจะทำอย่างไรให้แผนงานเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด เช่น จะต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุนในส่วนใดได้อีกหรือไม่”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้มีเป้าหมายว่าปี 2573 ประเทศไทยจะมีอีวี คิดเป็น 30% ของปริมาณผลิต 2.5 ล้านคันต่อปี หรือ 750,000 คัน สิ่งสำคัญคือต้องเร่งสร้างตลาด โดยระยะเร่งด่วนที่จะเป็นการช่วยลดภาวะมลพิษ ในส่วนของการส่งเสริมวินสะอาด ซึ่งมีเป้าหมายจักรยานยนต์รับจ้างจำนวน 53,000 คันในปี 2563-2565 รวมถึงส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศไทย และประชาชนให้เข้าถึงอีวี (Smart City Bus) ให้ได้ 5,000 คัน ใน 5 ปีข้างหน้า เป็นต้น

สำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้ารถยนต์อีวี (EV Charging Stations) ที่ผ่านมาได้มอบให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมมือกันพัฒนาเพื่อกระจายจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าให้มากขึ้นโดยไม่ใช่เป็นการไปแข่งขันกันเอง ซึ่งบีโอไอควรพิจารณามาตรการส่งเสริมฯในส่วนนี้ด้วย เพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ โดยระยะห่างของสถานีชาร์จไฟฟ้าควรจะอยู่ในรัศมีไม่เกิน 200 กิโลเมตร (กม.) ต่อ 1 สถานีชาร์จไฟฟ้า.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ