ประวัติศาสตร์พระเครื่อง ตำนานพุทธคุณที่ถูกกล่าวขาน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ประวัติศาสตร์พระเครื่อง ตำนานพุทธคุณที่ถูกกล่าวขาน

Date Time: 15 มิ.ย. 2563 00:01 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • ทันทีที่มนุษย์เริ่มก่อร่างสร้างวัฒนธรรม สิ่งที่พัฒนาควบคู่กันมานับแต่นั้น คือ ความเชื่อและศรัทธา ซึ่งกลายเป็นแนวคิดที่ทุกชนชาติล้วนมีสอดแทรกอยู่ในทุกบริบทของชีวิตในฐานะเครื่องบำรุงขวัญ

Latest


ทันทีที่มนุษย์เริ่มก่อร่างสร้างวัฒนธรรม สิ่งที่พัฒนาควบคู่กันมานับแต่นั้น คือ ความเชื่อและศรัทธา ซึ่งกลายเป็นแนวคิดที่ทุกชนชาติล้วนมีสอดแทรกอยู่ในทุกบริบทของชีวิตในฐานะเครื่องบำรุงขวัญและกำลังใจเมื่อต้องเผชิญภัย และเกิดความไม่มั่นคงในจิตใจ

สำหรับประเทศไทยถือได้ว่า เป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรมเรื่องความเชื่อยาวนานกว่าพันปีจากความผูกพันใกล้ชิดกับการนับถือพุทธศาสนาอันเป็นคติธรรมประจำชาติ เครื่องรางของขลังตามความเชื่อของไทยหลายๆ อย่าง จึงมีความเกี่ยวพันกับศาสนาพุทธอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็คือ พระเครื่อง รูปจำลององค์พระที่สามารถพกพาไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจได้ ปัจจุบันแม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้า แต่ความศรัทธาในพระเครื่องก็ยังไม่มีทีท่าจะเสื่อมคลาย ทั้งด้วยความงามเชิงพุทธศิลป์และด้วยตำนานเล่าขานเรื่องพุทธคุณ ที่ทำให้ชาวพุทธต่างนิยมหามาไว้ครอบครอง แต่กระนั้นหากย้อนกลับไปในยุคก่อน พระเครื่องที่เห็นกันในปัจจุบันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเป้าหมายในการเป็นเครื่องรางของขลังแต่อย่างใด

ยุคเริ่มแรกพุทธศาสนิกชนชาวไทยจะสร้างพระกัน เพื่อ "เอาบุญ" โดยการจัดพิมพ์ขึ้นมาจำนวนมากแล้วบรรจุใส่กรุ ซึ่งอาจเป็นหีบ หรือ ไห จากนั้นจะนำไปฝังไว้ตามฐานเจดีย์ เพื่อที่หากภายภาคหน้ามีใครมาขุดเจอจะทราบได้ว่าเคยมีพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาถึงบริเวณนี้แล้ว นับเป็นการสืบสานอายุของพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไป ถือเป็นบุญใหญ่ที่ชาวพุทธในอดีตเชื่อมั่นและพยายามจะพิมพ์พระให้ครบ 84,000 องค์ ตามจำนวนพระธรรมขันธ์ หรือจำนวนเท่ากับอายุโดยนับเป็นวันก็ได้เช่นกัน

พระที่ถูกสร้างในยุคนั้นถูกเรียกว่าพระพิมพ์ จากวิธีการผลิตที่เป็นการพิมพ์ขึ้นมา ซึ่งความเชื่อในการสร้างพระบรรจุกรุเพื่อสืบทอดศาสนาดำเนินมาอย่างยาวนานจนถึงจุดเปลี่ยนในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4 ที่ประเทศไทยมีความรุ่งเรืองถึงขีดสุดในการค้าขายกับต่างชาติ สิ่งที่เข้ามาพร้อมกันคือ ความเชื่อเรื่อง พระกริ่ง จากศาสนาพุทธนิกายมหายาน (ผลิตจากโลหะ มีช่องว่างด้านใน เขย่าแล้วจะมีเสียงกริ่งๆ) เป็นพระที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อให้ผู้เคารพศรัทธาได้พกไว้สำหรับเป็นเครื่องรางโดยเฉพาะ เมื่อความนิยมของพระกริ่งแพร่หลาย พระพิมพ์แต่เดิมจึงถูกนำออกจากวัดมาพกติดตัว หรือเก็บรักษาตามบ้านเรือนกันมากขึ้น จากที่แต่ก่อนเคยมีความเชื่อเรื่องการไม่นำพระเข้าบ้าน กระทั่งในช่วงรัชกาลที่ 5 ความนิยมของการผลิตพระ หรือวัตถุมงคล เพื่อเป็นเครื่องรางก็เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก และส่งต่อมาถึงยุคปัจจุบัน

ในยุคนี้ แม้จะได้เห็นการพิมพ์พระโดยวัดและเกจิอาจารย์หลายท่านได้ทั่วไปเพื่อให้ผู้ศรัทธาได้หาเช่าบูชา แต่กลุ่มพระเครื่องที่จัดว่าได้รับความนิยมเป็นพิเศษมักจะเป็นพระพิมพ์จากยุคก่อนที่ถูกขุดพบ หรือที่เรียกกันว่า พระกรุแตก โดยพระเหล่านี้มักมีตำนานเล่าขานต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่ามีพุทธคุณมหาศาล จากความเชื่อว่าเป็นพระที่ถูกจัดสร้างโดยเกจิชื่อดังในอดีต จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากในหมู่นักเลงพระ ตัวอย่างที่น่าสนใจ อาทิ กลุ่มพระเบญจภาคี สุดยอดแห่งพระเครื่องเมืองไทย มีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้าน ประกอบด้วย

1. สมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม สร้างโดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พฺรหฺมรังษี ตัวแทนสมัยรัตนโกสินทร์ กล่าวกันว่าเป็นที่สุดแห่งพระเครื่องตลอดกาล มีพุทธคุณเพรียบพร้อมทั้งหนุนดวงชะตา เมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยพิบัติ ให้โชคลาภ และเสริมบารมี ใครมีไว้จะรุ่งเรืองไม่มีวันตกต่ำ

2. พระนางพญา จ.พิษณุโลก ตัวแทนสมัยกรุงศรีอยุธยา โดดเด่นเรื่องเมตตากรุณาและสวัสดิมงคล ช่วยให้คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ชนะศัตรู และมีบารมีผู้คนเกรงใจ

3. พระกำแพงซุ้มกอ จ.กำแพงเพชร ตัวแทนสมัยสุโขทัย มีพุทธคุณเหนี่ยวนำทรัพย์ ช่วยเสริมความเป็นใหญ่ อำนาจวาสนา และไม่มีวันจน กระทั่งกลายเป็นคำพูดที่ติดปากกันมาแต่ครั้งโบราณว่า “มีกูแล้วไม่จน”

4. พระผงสุพรรณ จ.สุพรรณบุรี ตัวแทนสมัยอู่ทอง มีพุทธคุณเน้นเด่นด้านเมตตาบารมี ช่วยเสริมความเป็นผู้นำ ช่วยให้น่าเกรงขาม ให้รอดพ้นทุกสถานการณ์อันตราย มีโชคลาภ ค้าขายเป็นเลิศ มีเสน่ห์ ขจัดความทุกข์ ให้ความสงบและหนักแน่นต่อจิตใจผู้บูชา

5. พระรอด จ.ลำพูน เป็นตัวแทนสมัยทวารวดี จึงเก่าแก่ที่สุดในชุด เด่นด้านเมตตามหานิยม อุดมด้วยโชคลาภ ร่ำรวยทรัพย์ และเสริมพลังด้านความแคล้วคลาดคุ้มภัยเป็นพิเศษ จึงทำให้ค่อนข้างหายาก และมีราคาเช่าบูชาสูง

อย่างไรก็ตาม นอกจากพระกลุ่มเบญจภาคี ยังมีพระเครื่องที่น่าสนใจอีกมากที่มีพุทธคุณเล่าขาน จนได้รับการยอมรับจากบรรดาเซียนพระและผู้ศรัทธา อาทิ

พระเครื่องหลวงปู่ทวด เกจิอาจารย์รูปสำคัญแห่งกรุงศรีอยุธยา หนึ่งในที่สุดแห่งเครื่องราง ที่ได้รับการการันตีด้านคุ้มครองป้องกันภัย โดยมีข่าวที่ได้เห็นกันบ่อยๆ เมื่อเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงแล้วมีผู้รอดชีวิต ซึ่งโดยมากมักจะห้อยหลวงปู่ทวดไว้นั่นเอง

พระขุนแผน หรือหากกล่าวให้ชัดเจนคือ พระพิมพ์ยกซุ้ม ไม่ว่าจะเป็นปางมารวิชัย หรือ ปางสมาธิ หากมีซุ้มจะถือว่าเป็นพระขุนแผนทั้งหมด แต่เดิมไม่ได้มีชื่อว่าพระขุนแผน แต่เนื่องจากค้นพบในกรุวัด จ.สุพรรณบุรี มีความโดดเด่นเรื่องเมตตามหานิยม และการหนุนนำเสน่ห์จนเป็นที่ร่ำลือ จึงถูกเรียกต่อกันมาว่าพระขุนแผน

พระร่วง ขุดพบได้มากที่ จ.ลพบุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยที่ขอมยังเรืองอำนาจหรือเมื่อประมาณ พ.ศ.1600 เป็นพระเครื่องที่ผู้พบเห็นจะเกิดความน่าเกรงขาม มีพระพุทธคุณโดดเด่นในทางคงกระพันชาตรี

พระผงของขวัญวัดปากน้ำ ของท่านเจ้าประคุณพระมงคลเทพมุนี หรือ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ ธนบุรี นับได้ว่าเป็นพระเครื่องบอกบุญรุ่นแรกๆ จากการพิมพ์ขึ้นมาเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับผู้มีจิตศรัทธาสมทบทุนช่วยกันสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม มีคำกล่าวที่อธิบายพุทธคุณ ซึ่งถูกพูดกันติดปากคือ ถ้ามีพระวัดปากน้ำอยู่กับตัวแล้ว ในน้ำไม่ตาย บนบกไม่ตาย กลางอากาศไม่ตาย ลาภผลไม่ขาดมือ และมีค่าเท่ากับสมบัติพันล้าน หากมุ่งหวังสิ่งใดก็ให้อธิษฐานเถิด จักเกิดสัมฤทธิ์ผลทุกประการ

เหล่านี้เป็นบางส่วนของพระเครื่องยอดนิยม อย่างไรก็ตาม การหาเช่าบูชาพระเครื่องสักองค์นั้น เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่ง ทั้งการแยกแยะพระแท้ กับพระเทียม ที่ค่อนข้างจะพบได้มากมาย และการเข้าใจถึงรูปแบบของพระเครื่องแต่ละพิมพ์อย่างถ่องแท้ ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และด้านพุทธศิลป์ เพื่อให้สามารถดูพระองค์ที่ต้องการได้อย่างถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน สามารถหวังผลในด้านพุทธคุณในส่วนที่ต้องการหนุนนำอย่างถูกทาง

สำหรับเซียนพระ นักเล่นพระ และคนทั่วไปที่ต้องการบำรุงร่างกาย สายตา และสมองเป็นพิเศษ ต้องเลือกเครื่องดื่มที่ดีมีประโยชน์เป็นตัวช่วย รวมทั้งเครื่องดื่ม "โสมพลัส" ดื่มแล้วช่วยให้ร่างกายแข็งแรง สายตาดี แหลมคม สมองฉับไว พร้อมลุยได้ทุกสนาม แม้รายละเอียดเล็กน้อยแค่ไหนก็ไม่พลาด


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์