ทุ่ม 3.3 แสนล้านซื้อ "เทสโก้โลตัส" ซี.พี.ต่อยอดค้าปลีกไทย-มาเลเซีย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ทุ่ม 3.3 แสนล้านซื้อ "เทสโก้โลตัส" ซี.พี.ต่อยอดค้าปลีกไทย-มาเลเซีย

Date Time: 10 มี.ค. 2563 08:50 น.

Summary

  • กลุ่ม “ซี.พี.” ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ทุ่มเงิน 239,953 ล้านบาท ซื้อเทสโก้โลตัสในประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งจะได้มูลค่าสินทรัพย์ที่จะได้มา 338,445 ล้านบาท เพื่อต่อยอดอาณาจักรค้าปลีก

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

กลุ่ม “ซี.พี.” ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ทุ่มเงิน 239,953 ล้านบาท ซื้อเทสโก้โลตัสในประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งจะได้มูลค่าสินทรัพย์ที่จะได้มา 338,445 ล้านบาท เพื่อต่อยอดอาณาจักรค้าปลีก “เดฟ เลวิส” หัวหน้าผู้บริหารของเทสโก้ ประเทศอังกฤษ ระบุว่า ได้บรรลุข้อตกลงขายกิจการราคา 8,000 ล้านปอนด์ หรือ 338,800 ล้านบาท บอร์ด กขค.รอพิจารณาขั้นตอนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าคณะกรรมการบริษัท CPALL ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทลงทุน เพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นหรือผลประโยชน์การลงทุน (economic interest) ในสัดส่วนไม่เกิน 40% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ

1.บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือเทสโก้ประเทศไทย ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ในบริษัท เอกชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีก ภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทย

และ 2.Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. (เทสโก้ประเทศมาเลเซีย) ที่ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในมาเลเซีย ทั้งนี้ เทสโก้ประเทศไทยและเทสโก้มาเลเซีย ต่อไปรวมกันเรียกว่า กลุ่มเทสโก้เอเชีย

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวของบริษัท เป็นการลงทุนโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน ได้แก่ บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทโฮลดิ้ง) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (บริษัทผู้ซื้อ) โดยเงินลงทุนของบริษัทในบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชีย มีมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเท่ากับ 95,981 ล้านบาท

ขณะที่ CPF แจ้งว่า คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด (CPM) ลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นหรือผลประโยชน์การลงทุน (economic interest) ในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ของเทสโก้ประเทศไทยและเทสโก้มาเลเซีย และการลงทุนของ CPM จะเป็นการลงทุนโดยอ้อม ผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน ได้แก่ บริษัทโฮลดิ้ง ที่เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (บริษัทผู้ซื้อ) เงินลงทุนของ CPM ในบริษัทโฮลดิ้งเพื่อธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียมีมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 47,991 ล้านบาท

บริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นรวมกัน 100% ในบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ที่เป็นบริษัทที่จะเป็นบริษัทผู้ซื้อหุ้นของกลุ่มเทสโก้เอเชีย นอกจากมี CPALL ถือหุ้น 40% และมี CPM (บริษัทย่อยของ CPF) ถือหุ้น 20% แล้ว ยังมีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นอีก 40% ในส่วนนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเท่ากับ CPALL คือ 95,981 ล้านบาท ทำให้ประเมินว่า บริษัทผู้ซื้อจะใช้เงินในการทำธุรกรรมครั้งนี้ รวมกันไม่ต่ำกว่า 239,953 ล้านบาท

นอกจากนี้ CPALL และ CPF ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯถึงมูลค่ารวมของสิ่งตอบแทน หรือมูลค่าสินทรัพย์ที่จะได้มาของบริษัทผู้ซื้อ จากธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชีย มีมูลค่าเบื้องต้น 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเท่ากับ 338,445 ล้านบาท

สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่า จะเกิดขึ้นกับบริษัทและผู้ถือหุ้น คือ เพิ่มโอกาสและช่องทางในการลงทุนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดที่มีการแข่งขันสูง และบริษัทจะได้มาซึ่งธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยและมาเลเซีย ที่ มีร้านค้าในรูปแบบต่างๆช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจของบริษัท มีร้านค้าที่หลากหลายขึ้น

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เทสโก้ ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของประเทศอังกฤษ เปิดเผยในแถลงการณ์ของนายเดฟ เลวิส หัวหน้าผู้บริหาร ของเทสโก้ ว่า เทสโก้ ได้บรรลุข้อตกลงขายกิจการค้าปลีกของเทสโก้ในประเทศไทยและมาเลเซีย ให้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ราคา 8,000 ล้านปอนด์ หรือ 338,800 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 41.35 บาทต่อ 1 ปอนด์) โดยจะนำเงิน 5,000 ล้านปอนด์ หรือ 206,750 ล้านบาท คืนให้กับผู้ถือหุ้นตามกระบวนการต่อไป

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า การซื้อกิจการของโลตัส โดยกลุ่ม ซี.พี.อาจเข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จะต้องขออนุญาตรวมธุรกิจ ตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 โดยสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) จะรอการยื่นเอกสารการขออนุญาตรวมธุรกิจ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) พิจารณา โดยต้องศึกษา วิเคราะห์ขอบเขตตลาดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกหลายประเภท และศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ การแข่งขันทางการค้า รวมทั้งผู้บริโภค โดย กขค.จะพิจารณาว่าเห็นควรอนุญาตหรือไม่อนุญาต หรืออนุญาตแบบมีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ภายใน 90 วัน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ