เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถึงเรื่องการแจกเงินว่า “วันนี้ยืนยันการจ่ายเงินคนละ 2,000 บาท จะยังไม่มีการจ่าย เบื้องต้นจะมีมาตรการคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าประมาณ 3,000 บาทต่อครัวเรือน”
เมื่อไม่แจกเงิน 2,000 บาทแล้ว แต่จะเปลี่ยนมาเป็น คืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า 3,000 บาทแทน หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่า รายละเอียดคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้านั้น ต้องทำอย่างไร ใครจะได้เงิน แล้วจะให้เงินอย่างไร ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียงมาให้คุณเข้าใจง่ายๆ ดังต่อไปนี้
แหล่งข่าวจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ว่า สำหรับ “ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า” ที่จะคืนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็กนั้น หลายท่านที่เคยยื่นเรื่องขอใช้ไฟฟ้า จะรู้จักกันในชื่อค่าธรรมเนียม “เงินประกันการใช้ไฟฟ้า”
โดยที่มาที่ไปของ “เงินประกันการใช้ไฟฟ้า” นั้น แหล่งข่าวจาก กฟน. อธิบายไว้ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ครั้งแรกที่คุณยื่นขอใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าจะเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ซึ่งคุณจะได้เงินคืนก็ต่อเมื่อคุณเดินทางไปทำเรื่องยกเลิกใช้ไฟฟ้า
ส่วนเหตุผลที่ต้องเก็บ “เงินประกันการใช้ไฟฟ้า” เนื่องจากเป็นค่าธรรมเนียมในการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า เพื่อเป็นเงินประกันการใช้ไฟฟ้า โดย แหล่งข่าวจาก กฟน. ยกตัวอย่างความจำเป็นที่ต้องมีการเก็บ “เงินประกันการใช้ไฟฟ้า” ให้เห็นภาพว่า บ้านของนาย ก. ไม่ยอมจ่ายค่าไฟฟ้า ทาง กฟน. ก็จะยึดเงินประกันการใช้ไฟฟ้าของ นาย ก. ที่เคยจ่ายไว้กลับเข้ารัฐ
หมายเหตุ : ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย จะได้รับดอกเบี้ยออมทรัพย์ทุก 5 ปี โดยคิดในอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย
โดยอัตราค่าธรรมเนียมเงินประกันคืนเมื่อยกเลิกใช้ไฟฟ้า มีรายละเอียดเบื้องต้นดังต่อไปนี้
"ขึ้นอยู่กับแต่ละรายที่วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้กับการไฟฟ้าฯ มีตั้งแต่ 300 บาท 2,000 บาท 4,000 บาท และ 6,000 บาท" นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว
อย่างไรก็ดี หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว ทีมข่าวจะรายงานให้ทราบต่อไป.