คลังทุ่มแสนล้านแจกเงินคนจน รับกันเหนาะๆ ผ่านพร้อมเพย์หัวละ 1-2 พันบาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลังทุ่มแสนล้านแจกเงินคนจน รับกันเหนาะๆ ผ่านพร้อมเพย์หัวละ 1-2 พันบาท

Date Time: 5 มี.ค. 2563 09:30 น.

Summary

  • “อุตตม” เล็งแจกเงินคนจน 14.6 ล้านคน ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านพร้อมเพย์มากกว่าคนละ 1,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมออกมาตรการชุด (แพ็กเกจ)

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“อุตตม” เล็งแจกเงินคนจน 14.6 ล้านคน ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านพร้อมเพย์มากกว่าคนละ 1,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมออกมาตรการชุด (แพ็กเกจ) มูลค่าเกิน 100,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟต์โลน) อุ้มผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นเกณฑ์ LTF ชั่วคราว เพื่อเป็นยาแรงพยุงเศรษฐกิจระยะสั้น 3 เดือน

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ โดยกระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ชุดที่ 1 ซึ่งมาตร การที่ออกมาจะครอบคลุมทุกกลุ่ม ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ และจะเป็นมาตรการระยะสั้นเท่านั้น โดยคาดว่าจะใช้เงินมากกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หลังจากชุดมาตรการทั้งหมดผ่าน ครม.เศรษฐกิจแล้ว เตรียมจะเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 10 มี.ค.เพื่อให้ชุดมาตรการนี้เกิดผลภายใน 3-4 เดือนข้างหน้า หรือตั้งแต่เดือนมี.ค.-มิ.ย.63

สำหรับการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) ขณะนี้ได้หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยแล้ว เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ผ่านการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จากธนาคารออมสิน มากกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะสอดคล้องกับที่ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์ทางบัญชี ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รวดเร็วขึ้น

ส่วนด้านการช่วยเหลือตลาดทุนนั้นสำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้หารือกับสภาธุรกิจ ตลาดทุนไทย (FETCO) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการพิจารณาปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) ซึ่งกำหนดให้หักลดหย่อนภาษีเงินได้ สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวม กับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ หรือกองทุน RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยอาจจะให้กองทุน SSF นั้น กลับไปใช้หลักเกณฑ์ของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นการชั่วคราวระยะเวลา 1 ปี

ขณะที่การช่วยเหลือ ภาคประชาชน จะมีการโอนเงินเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย เกษตรกร อาชีพอิสระ และพนักงานเงินเดือนที่มีรายได้น้อย ที่ได้รับผลกระทบ ผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือ บริการโอนเงินโดยไม่ต้องใช้เลขที่บัญชี ของรัฐบาลที่มีอยู่มากกว่ารายละ 1,000 บาท เพื่อให้คนกลุ่มเหล่านี้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้ได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า 14.6 ล้านคน

“เงินที่โอนให้ในระบบพร้อมเพย์นั้น จะไม่บังคับประชาชนว่าจะนำไปจับจ่ายซื้อของอะไร และอาจจะไม่ใช่การโอนครั้งเดียว แต่อาจโอนเป็นรายเดือนก็ได้ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาถึงความเหมาะสม”

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลจะออกมาตรการจูงใจ ผู้ประกอบการชะลอการเลิกจ้างงาน ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่า จะสามารถออกมาตรการทางภาษีเข้ามาผ่อนปรนและลดค่าธรรมเนียมส่วนใดได้บ้าง เช่น การหักภาษี ณ ที่จ่ายให้น้อยลง ให้นำค่าจ้างพนักงานมาหักลดหย่อนภาษีได้มากกว่า 1 เท่า และลดค่าเช่าที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ เป็นต้น

สำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างงานหรือโดนพักงาน 14 วัน ได้สั่งให้ สศค.ดูว่าจะใช้มาตรการมดบ้างช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างไรด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อบัตรเงินสด GSB Refinance ให้ผู้ที่มีหนี้บัตรเครดิตหลายใบรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตจากสถาบันการเงินต่างๆ มายังธนาคารออมสิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งถือเป็นการช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง

ส่วนกลุ่มธุรกิจภาคการท่องเที่ยว กระทรวงการคลัง ได้ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปหารือกับสถานศึกษาเพื่อจัดอบรมให้ความรู้ เพิ่มทักษะ ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยกระทรวงการคลังจะจัดงบประมาณเข้าไปสนับสนุนให้กลุ่มดังกล่าว เพื่อจูงใจให้เอสเอ็มอีมาเข้าร่วม

“มาตรการที่ออกมาเชื่อว่าจะเป็นยาแรงช่วยพยุงเศรษฐกิจ ใน 3 เดือนข้างหน้าได้แน่นอน และชุดมาตรการที่ออกมานั้นอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังแน่นอน 100% ส่วนผลกระทบโควิด-19 นั้นจะลากยาวถึงเมื่อไหร่ยังตอบไม่ได้ และขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จะเติบโตเท่าไหร่เพราะยังเร็วเกินไปสำหรับการประเมินเศรษฐกิจ”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ