นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กกร.มีมติปรับลดอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไทยปีนี้ลงไปอยู่ที่ 1.5-2% จากเดิมคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 2-2.5%
“เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แพร่กระจายลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่จะยังคงอัตราการส่งออกติดลบ 2-0% และคงอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 0.8-1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยตัวเลขทั้งหมดอยู่บนสมมติฐานที่โควิด-19 จะหยุดการแพร่ระบาดภายในเดือน มิ.ย.นี้”
นายสุพันธุ์กล่าวว่า กรณีดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่กกร.ทำการปรับลดจีดีพีติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากเดิมจะมีการทบทวนไตรมาสละครั้งเนื่องจากปัจจัยต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโควิด-19 ซึ่ง กกร.เมื่อ เดือนที่ ก.พ.ได้ลดคาดการณ์จีดีพีอยู่ที่ 2-2.5% และในเดือน มี.ค.นี้ ก็ได้ปรับลดลงอีก ส่วนที่คงตัวเลขด้านการส่งออกไว้ตามเดิม เพราะเห็นว่าการส่งออกมีทั้งผลบวกและลบ จากปัญหาโควิด-19 แต่ก็ยอมรับว่าหากโควิด-19 สถานการณ์ยังยืดเยื้อไปถึงสิ้นปีนี้เศรษฐกิจของประเทศไทย ก็มีโอกาสติดลบ แต่ กกร.คาดหวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะล่าสุดในประเทศจีนมีผู้ป่วยติดเชื้อลดลง
ล่าสุด ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจวันที่ 6 มี.ค.นี้ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่ง ครม.เศรษฐกิจได้สั่งการให้ผู้แทนกกร.เข้าร่วมประชุม ครม.เศรษฐกิจเป็นครั้งแรกที่มีการประชุม ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ สำหรับผลกระทบโควิด-19 ต่อภาคอุตสาหกรรมที่ ส.อ.ท.ได้สำรวจ จาก 45 กลุ่มที่เป็นสมาชิกพบว่ามี 12 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากเพราะผู้ประกอบไทย ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากจีน เนื่องจากมีการปิดโรงงาน และมีอุปสรรคในการส่งสินค้าไปจีน.