ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจลดลงมาก โดยในเดือน ม.ค. ดัชนีอยู่ที่ 48.5 ลดลงสู่ระดับ 44.1 ในเดือนนี้ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 หรือในรอบ 8 ปี โดยลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งนี้ กลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นกลุ่มที่ความเชื่อมั่นด้านการผลิตลดลงมากที่สุด ตามความกังวลถึงระดับวัตถุดิบคงคลังที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากจีนค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิตที่ลดลงอย่างมากในเดือนนี้มาจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก นำโดยกลุ่มขนส่ง ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ที่ความเชื่อมั่นด้านยอดจองของลูกค้า ทั้งในและต่างประเทศลดลงมาก จากผลของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มี.ค.- พ.ค.) ลดลงจากเดือนก่อนเช่นกัน โดยลดลงมาอยู่ที่ 50.5 จาก 52.4 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนความกังวลของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่มองว่าภาวะธุรกิจในระยะข้างหน้าว่าจะยังคงมีความเสี่ยงต่อเนื่อง โดยการคาดการณ์ว่าปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่อาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสยังไม่คลี่คลาย
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อที่ลดลงมากอยู่ที่ 40 ในเดือน ก.พ.จาก 48.4 ในเดือน ม.ค. และดัชนีผลประกอบการของธุรกิจที่ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 41.3 จาก 49.6 ส่งผลให้จำนวนธุรกิจที่ความเชื่อมั่นด้านสภาพคล่อง หรือความเชื่อมั่นต่อรายได้ และเงินหมุนเวียนแย่ลงมีมากขึ้น สะท้อนจากดัชนี ด้านสภาพคล่องที่ลดลงมาอยู่ที่ 47.2 ในเดือน ก.พ. และลดลงสู่ 46 ใน 3 เดือนข้างหน้า ด้านแรงงาน พบว่าความยากง่ายในการหาแรงงานของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับทรงตัว ขณะที่ดัชนีที่สะท้อนการจ้างงานลดลง โดยอยู่ระดับ 46.7 ในเดือน ก.พ. จาก 47.5 ในเดือนก่อนหน้า.