น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้จะหารือร่วมกับผู้ค้าน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน ผู้ผลิตและผู้ค้าเอทานอล เพื่อเตรียมความพร้อมกำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 (เบนซินผสมเอทานอล 20%) เพื่อกำหนดให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศไทยที่กระทรวง พลังงานได้วางเป้าหมายที่จะประกาศใช้ได้ในไตรมาส 3 เพื่อยกระดับราคาอ้อยและมันสำปะหลังที่เป็นพืชหลักในการนำมาผลิตเอทานอล
“อย่างไรก็ตาม กระทรวงก็ต้องมากำหนดวันเวลาให้ชัดเจน ซึ่งตามแผนต้องมีการพิจารณาลดหัวจ่ายน้ำมัน ชนิดน้ำมันของกลุ่มเบนซินลง 1 ประเภท ซึ่งล่าสุดสมาคมผู้ค้าปลีกน้ำมันรายย่อยได้ทำหนังสือว่าพร้อมจะลดประเภทหัวจ่ายน้ำมัน ซึ่งมีทั้งให้เลิกขายแก๊สโซฮอล์ 91 บางส่วนก็ให้เลิกแก๊สโซฮอล์ 95 แต่จะต้องมาหารือกัน”
ทั้งนี้ กรมก็ยอมรับว่าในแง่ของปริมาณเอทานอลที่อาจจะลดลงเนื่องจากผลผลิตอ้อยและมันสำปะหลัง ที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอลได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ก็จะต้องพิจารณาร่วมกันถึงปริมาณที่ชัดเจนก่อน รวมถึงการพิจารณาในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันที่ต้องบริหารจัดการน้ำมันเบนซินพื้นฐาน (Gasoline Base หรือ G-Base) ที่ต้องให้สมดุลเพราะโรงกลั่นน้ำมันผลิต G-base 1 หรือน้ำมันพื้นฐานสำหรับผลิตแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นส่วนใหญ่ หากยกเลิกขายแก๊สโซฮอล์ 91 โรงกลั่นน้ำมันก็ต้องปรับกระบวนการผลิตให้สอดรับกับข้อเท็จจริง
นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ นายกสมาคมการค้าและผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ผลผลิตอ้อยฤดูหีบปี 2562/63 ที่กำลังทยอยปิดหีบในเร็วๆนี้ มีแนวโน้มว่าปริมาณอ้อยจะลดลงจากฤดูหีบปี 2561/62 ประมาณ 55 ล้านตันหรือผลผลิตอ้อยปี 2562/63 จะอยู่ที่ 74-75 ล้านตัน ที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณกากน้ำตาล (โมลาส) ที่จะนำมาผลิตเอทานอลลดตามไปด้วยคาดว่าจะมีโมลาสประมาณ 3 ล้านตันจากปีก่อนที่ผลิตรวมได้ 4.6 ล้านตัน.