ภาครัฐ-เอกชน ลงนามร่วมพัฒนาระบบราง ดันยุทธศาสตร์ “ไทยเฟิร์ส” โครงการระบบรางใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศร้อยละ 40 ภายใน 4 ปี พร้อมวางแผนความต้องการใช้บุคลากรด้านระบบรางในอนาคต ด้าน “กรมรางฯ” เร่งศึกษาผลิตเครื่องยึดเหนี่ยวรางใช้เอง ประเดิมใช้ภายในปี 66 ส่วนบีทีเอสเด้งรับนโยบายโลคัลคอนเท้นต์ มั่นใจลดค่าใช้จ่าย 5-10%
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการส่งเสริมการพัฒนาระบุบราง ระหว่างกรมการขนส่งทางรางกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 15 หน่วยงานว่า การพัฒนาระบบรางต้องพัฒนาใน 2 ส่วนไปพร้อมกัน ทั้งด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและบุคลากร ซึ่งสถาบันวิจัยต่างๆ ที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยกันพัฒนา พร้อมผลักดันระบบรางให้มีศักยภาพ และเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมรางในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น
นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า จะมีการวางมาตรฐานเพื่อกำหนดชิ้นส่วนของรถไฟและกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์รถไฟ ภายในประเทศให้ได้ 40% ในปี 66 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ในระบบส่งกำลัง ระบบเบรก และอุปกรณ์ภายในตัวรถได้แล้ว โดยในขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เริ่มมีการสั่งซื้อขบวนรถบรรทุกสินค้าที่ประกอบภายในประเทศ ซึ่งจะมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบราง เช่น อุตสาหกรรมเหล็กมีการเติบโตมากขึ้น
นอกจากนี้ การใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงที่ปัจจุบันมีการใช้งบประมาณประมาณ 9,600 ล้านบาทต่อปี และในอนาคตจะเพิ่มเป็นกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งอาจจะช่วยลดราคาค่าโดยสารของผู้ใช้บริการได้อีกด้วย โดยในเบื้องต้น ขร. อยู่ระหว่างการพัฒนา ศึกษา และวิจัย ในการผลิตเครื่องยึดเหนี่ยวราง (Rail Fastener) โดยผู้ประกอบการคนไทย เนื่องจากในปัจจุบันจะเป็นการนำเข้าจากประเทศจีนทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะศึกษาและวิจัยแล้วเสร็จภายใน 8 เดือน จากนั้นจะทำการทดสอบทุกสภาวะอากาศระยะเวลา 1 ปี ก่อนที่จะผู้ผลิตภายในประเทศว่าสามารถผลิตได้หรือไม่ และทดลองใช้ต่อไป ซึ่งคาดว่า จะเริ่มใช้ได้ภายในปี 66 ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวนั้น เป็นไปตามหลักการ Thai First คือ ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้รับประโยชน์ก่อน
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอส กล่าวว่า บีทีเอสพร้อมให้ความร่วมมือในการใช้วัสดุอุปกรณ์ ที่ผลิตในประเทศมาใช้ในรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยในปัจจุบัน บริษัท บอมบาดิเอร์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอะไหล่และระบบอาณัติสัญญาณระบบโลกและบีทีเอสได้ใช้อุปกรณ์อยู่ ได้มาตั้งโรงงานผลิตระบบเบรกและระบบอาณัติสัญญาณบางส่วนในไทย
นอกจากนั้นในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา ที่บีทีเอสได้เป็นผู้ดำเนินการนั้น ในส่วนของระบบสับหลีกราง ซึ่งโมโนเรลต้องใช้ ทางบริษัท บอมบาดิเอร์ ก็ได้มีการจ้างให้บริษัทในประเทศไทยเป็นผู้ผลิต ซึ่งจากการใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศในหลายๆส่วนของ บีทีเอสนั้นทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการใช้อุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศกว่า 5-10% ขณะเดียวกันบีทีเอสได้มีการเจรจากับ บริษัท ซีเมนส์ จำกัด และ บริษัทที่ผลิตขบวนตู้รถไฟฟ้าจากประเทศจีน ให้มาประกอบขบวนรถไฟฟ้าในไทย เพราะในอนาคต.