ดิ้นใช้เงินประมูล 5 จีแสนล้าน เอไอเอสกอดคลื่นมากสุดตามด้วยทรู-ดีแทค

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ดิ้นใช้เงินประมูล 5 จีแสนล้าน เอไอเอสกอดคลื่นมากสุดตามด้วยทรู-ดีแทค

Date Time: 18 ก.พ. 2563 08:01 น.

Summary

  • กสทช.เตรียมชงบอร์ด กสทช.รับรองผลประมูล 5 จี 19 ก.พ.นี้ ขณะที่ “สมคิด” ดิ้นหาช่องใช้เงินจากการประมูลราว 1 แสนล้านบาท มาพัฒนาระบบโทรคมนาคม พร้อมเปิดกรุคลื่นในสต๊อก

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%



กสทช.เตรียมชงบอร์ด กสทช.รับรองผลประมูล 5 จี 19 ก.พ.นี้ ขณะที่ “สมคิด” ดิ้นหาช่องใช้เงินจากการประมูลราว 1 แสนล้านบาท มาพัฒนาระบบโทรคมนาคม พร้อมเปิดกรุคลื่นในสต๊อก 3 ค่ายมือถือ เอไอเอสกินรวบ 1,450 เมกะเฮิรตซ์ นำโด่งสัดส่วนคลื่น 1 เมกต่อลูกค้า 29,000 คน ทรู 1,020 เมกะเฮิรตซ์ คิดเป็น 1 เมกต่อลูกค้า 29,500 คน ส่วนดีแทคทิ้งห่าง 340 เมกะเฮิรตซ์ คิดเป็น 1 เมกต่อลูกค้า 60,600 คน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. วันที่ 19 ก.พ.นี้ สำนักงาน กสทช.จะเสนอผลการประมูล 5 จี ให้บอร์ดรับรองผล หลังจากนั้น ผู้ชนะประมูล ต้องแจ้งสำนักงานว่าจะนำเงินมาชำระค่าประมูลงวดแรก 10% พร้อมหนังสือค้ำประกันเมื่อใด จากนั้นสำนักงานจะเสนอให้บอร์ดออกใบอนุญาต คาดจะออกได้ตั้งแต่เดือน มี.ค.63 โดยใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี รวมเงินที่ได้จากการประมูล 48 ใบอนุญาตทั้งสิ้น 100,521.17 ล้านบาท

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะนำเงินจากการประมูลไปใช้พัฒนาระบบโทรคมนาคมและภาคดิจิทัล ซึ่งมอบหมายให้นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง พิจารณาข้อกฎหมายก่อน ส่วนผลจากการเปิดประมูลคลื่น 5 จี จะทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องอีกร่วม 50,000 ล้านบาท

ขณะที่นายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรูได้คลื่นความถี่มาให้บริการเพิ่มอีก 890 เมกะเฮิรตซ์ ประกอบด้วยคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ทำให้มีคลื่นความถี่ให้บริการครอบคลุมย่านความถี่สูง- กลาง-ต่ำ รวม 1,020 เมกะเฮิรตซ์ เพียงพอต่อการให้บริการที่ดี “ปัจจุบันทรูมีคลื่น 700 ให้บริการอยู่แล้ว 10 เมกะเฮิรตซ์ เพียงพอต่อการให้บริการ 5 จี ในอนาคต นอกจากคลื่น 700 ทรูยังมีคลื่นความถี่ต่ำเพิ่มเติม ทั้ง 850 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ ถือว่าครอบคลุมเพียงพอ และมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่น”

ส่วนแผนการให้บริการ 5 จี ทรูมีความพร้อมสูงสุด เพราะได้รับการสนับสนุนจากไชน่า โมบายล์ ผู้ให้บริการมือถือจากจีน ในฐานะพันธมิตรผู้ถือหุ้นของทรู โดยไชน่า โมบายล์เปิดให้บริการ 5 จี เป็นรายแรกๆของโลก แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะเปิดบริการ 5 จี เชิงพาณิชย์เมื่อไร น่าจะเริ่มจากบริการบนคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ส่วน 5 จีบนคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ ต้องใช้เวลา
อีกสักระยะ เพราะเป็นคลื่นที่เน้นให้บริการเชิงอุตสาหกรรม

ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส กล่าวว่า การทุ่มเงินกวาดประมูลคลื่นความถี่ 5 จีของเอไอเอสครั้งนี้ เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะมีคลื่นความถี่เพียงพอและครอบคลุมสำหรับให้บริการฐานลูกค้ามากกว่า 40 ล้านราย ส่วนเรื่องแผนการเปิดบริการ 5 จี บอกได้แต่เพียงว่า บริการ 5 จีไม่ใช่เรื่องของวันนี้ แต่เป็นเรื่องในอีก 2-5 ปีข้างหน้า โดยบริการ 5 จีของเอไอเอสจะเริ่มจากคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประมูล 5 จี เมื่อวันที่ 16 ก.พ. เอไอเอสกวาดคลื่นความถี่ไปครอบครอง 1,310 เมกะเฮิรตซ์ ทำให้เมื่อรวมคลื่นเดิม จะมีคลื่นทั้งหมด 1,450 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนทรูมีคลื่นรวม 1,020 เมกะเฮิรตซ์ ด้านบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ประมูลคลื่น 5 จีไป 200 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อรวมกับคลื่นเดิม ทำให้มีคลื่นทั้งสิ้น 340 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อคิดสัดส่วนคลื่นต่อลูกค้าแล้ว เอไอเอสมีสัดส่วนคลื่น 1 เมกะเฮิรตซ์ต่อลูกค้า 29,000 คน, ทรู 1 เมกะเฮิรตซ์ต่อลูกค้า 29,500 คน และดีแทค 1 เมกะเฮิรตซ์ต่อลูกค้า 60,600 คน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ