นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า จากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวม 125,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ถือเป็นวงเงินที่น่าพอใจสำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา
แต่ สทท.อยากให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้เงินเพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กมากหรือซุปเปอร์เอส เช่น ร้านอาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ด ร้านนวดและสปาขนาดเล็กและอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนแรงงานรวมกว่า 3 ล้านคน คิดเป็น 75% ของแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทั้งหมด 4 ล้านคน สามารถเข้าถึงวงเงินกู้ดังกล่าวได้ง่ายขึ้น เพราะคนเหล่านี้ไม่มีงบบัญชีย้อนหลัง 3 ปี ไม่ได้จดทะเบียนเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม พอไปยื่นกู้ก็ไม่ตรงตามเงื่อนไข
นอกจากนี้ อยากให้ ครม. พิจารณาเลื่อนการยื่นแบบรายการและชำระภาษีนิติบุคคลประจำปี 2562 ออกไปอีก 1 ปี หรือไปชำระพร้อมกับภาษีนิติบุคคลประจำปี 2563 ในปี 2564 เนื่องจากที่ประชุม ครม. วันก่อนอนุมัติเพียงการขยายเวลายื่นแบบแสดงรายได้และชำระภาษีบุคคลธรรมดาไปเป็น มิ.ย.2563 เท่านั้น พร้อมกับขอให้พิจารณาเลื่อนการจ่ายประกันสังคมทั้งในส่วนนายจ้างและลูกจ้างออกไปอย่างน้อย 6 เดือน หรือจนกว่าเหตุการณ์กลับสู่ปกติซึ่งอาจจะเร็วกว่านี้ก็ได้ นอกจากนี้ สทท.ต้องการให้ธนาคารช่วยผ่อนปรนการส่งดอกเบี้ยนาน 6 เดือน เพิ่มเติมจากที่พักเงินต้นให้แล้ว เพื่อบรรเทาผลกระทบในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทย
“จากการจัดประชุมภายใน สทท.เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของผู้ประกอบการท่องเที่ยวครั้งนี้ จะรวบรวมความเห็นของผู้ประกอบการเพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ไขและช่วยเหลือจากภาครัฐต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีภายใน 7 วัน เบื้องต้นอาจจะมีการขอให้รัฐบาลช่วยกันวงเงินสนับสนุนภาคท่องเที่ยว 100,000 ล้านบาท โดยจะกลับไปจัดทำแผนเพื่อนำเสนอเพิ่มเติมเพราะตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียด”.