นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของกระทรวงคมนาคม โดยขณะนี้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในการจัดทำเครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่ ซึ่งจะติดบนหลังคารถ โดยจะเริ่มติดตั้งกับรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ภายในเดือนก.พ.นี้ นำร่องเส้นทางละ 3 คัน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 129 เส้นทางทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมแล้วประมาณ 387 คัน
ทั้งนี้ เครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่ จะใช้หลักการเหมือนกับการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน แต่เครื่องฟอกอากาศ เคลื่อนที่ไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟ จะใช้การเคลื่อนที่ของรถเพื่อนำอากาศเข้ามาในท่อและมีไส้กรองอากาศ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะเริ่มทดลองให้รถเมล์ ขสมก.ติดตั้งบนหลังคา เพื่อทดสอบค่าของอากาศว่าสามารถฟอกได้ตามทฤษฎีหรือไม่ เพื่อเป็นต้นแบบที่จะใช้กับรถคันอื่นๆต่อไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการประยุกต์ใช้ เพราะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่ 70% เกิดจากรถ ดังนั้นจึงควรกรองอากาศที่รถด้วย หากเมื่อทดลองแล้วได้ผลตามสมมติฐานดังกล่าว ก็จะขยายผลจากรถเมล์ ขสมก. ไปยังรถบรรทุก และขยายผลไปในพื้นที่ต่างจังหวัดต่อไปด้วย
นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า จากการทดสอบแบบจำลองสถานการณ์ของ มช. พบว่า หากรถวิ่งด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) จะฟอกอากาศได้ 2 หมื่นคิวต่อ 1 ชม. ต่อ 1 คัน ทั้งนี้คนปกติจะใช้อากาศบริสุทธิ์หายใจประมาณ 0.5 คิวต่อชม. นั่นคือรถเมล์ 1 คัน หากวิ่ง 1 ชม. อากาศบริสุทธิ์จะรองรับคนได้ 40,000 คน อย่างไรก็ตาม ได้มอบให้ ขบ. ไปพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่า หากรถเมล์ใช้ความเร็วรถที่มากกว่า 20 กม.ต่อชม. เครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่จะสามารถกรองอากาศได้หรือไม่
นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า เชื่อว่าราคาแต่ละเครื่องคงไม่แพงมาก ไส้กรองราคาอยู่ที่ประมาณ 500 บาท ซึ่งไส้กรอง แต่ละตัวใช้ได้ประมาณ 400 ชม. หรือประมาณ 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ ตนไม่ห่วงเรื่องการผลิตว่าจะทันหรือไม่ เพราะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมากมาย พร้อมกันนี้ยังให้พิจารณาด้วยว่าสามารถออกแบบในรถขนาดเล็กลงได้หรือไม่.