สัญญาสร้างผลงานชิ้นโบแดง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สัญญาสร้างผลงานชิ้นโบแดง

Date Time: 2 ม.ค. 2563 06:01 น.

Summary

  • เปิดศักราชใหม่ปี 2563 ประชาชนคนไทยคงอยากเห็นรัฐบาลแสดงฝีไม้ลายมือให้เห็นว่าในปีนี้จะบริหารประเทศไปในทิศทางแบบไหนที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับประชาชน

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

เปิดศักราชใหม่ปี 2563 ประชาชนคนไทยคงอยากเห็นรัฐบาลแสดงฝีไม้ลายมือให้เห็นว่าในปีนี้จะบริหารประเทศไปในทิศทางแบบไหนที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับประชาชน

ถ้าทำได้ดี รัฐมนตรีท่านนั้นจะกลายเป็น “คนมีค่า มีราคา” ไปไหนก็มีแต่คนรักและจดจำ

แต่ถ้าขึ้นมานั่งในตำแหน่งที่มีโอกาสชี้ทิศทางประเทศแล้ว กลับทำไม่ได้ ทำไม่เป็น นอกจากจะเสียเวลา ทำลายโอกาสของประชาชนแล้ว ยังเป็นการทำลายอนาคตทางการเมืองของนักการเมืองท่านนั้นด้วย

อย่างไรก็ดี ต้นปี คนมักจะมีอารมณ์คึกคักและสร้างเป้าหมายการทำงานของตัวเอง

“ทีมเศรษฐกิจ” จึงเกาะติดรัฐมนตรีของกระทรวงเศรษฐกิจ เพื่อถามคำถามสั้นๆว่า “ในปี 2563 ท่านจะทำเรื่องอะไรให้เป็น...ผลงานชิ้นโบแดง”

โปรดชมคำตอบของแต่ละท่าน ความตั้งใจของแต่ละกระทรวง ที่เราขอถือเป็น “คำสัญญาสร้างผลงานชิ้นโบแดง” ได้ดังต่อไปนี้...

อุตตม สาวนายน รมว.คลัง

ถ้าพูดถึงผลงานชิ้นโบแดงที่แรงกระแทกใจคนทั้งประเทศของกระทรวงการคลัง ในปี 2562 ไม่มีใคร ไม่รู้จัก โครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่มีผู้สมัครและคว้าสิทธิ์ เงินแจกฟรีจากรัฐบาลคนละ 1,000 บาท ร่วม 13 ล้านคน และมี 2 ล้านคน ที่เข้าร่วมรับการคืนเงิน 15-20% ในกระเป๋าเงินช่อง 2 รวมแล้วมีคนในกลุ่มที่ได้รับสิทธิ์จากรัฐภายใต้โครงการนี้ มากถึง 15 ล้านคน

นักข่าวลองถาม รมว.คลัง ดูว่าปี 2563 จะทำผลงานชิ้นโบแดงแบบนี้อีกมั้ย ปรากฏคำตอบไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ (คงอยู่ที่สถานการณ์เศรษฐกิจว่าต้องการกระตุ้นแรงๆหรือไม่)

แต่สิ่งที่ รมว.อุตตม กล่าวอย่างเป็นมั่นเหมาะ คือ การต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่มีผู้ถือบัตรอยู่ 14.6 ล้านคน ซึ่งในปี 2563 จะมีการขัดเกลาคุณสมบัติของผู้ถือบัตรต้องมีความเหมาะสมจริงๆ อาทิ เอาเกณฑ์รายได้ของทั้งครอบครัวหารด้วยจำนวนคนมาพิจารณาด้วย

และเพื่อให้การพัฒนาฐานรากมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง จึงมีแนวคิดจัดตั้งกองประชารัฐสวัสดิการ เป็นหน่วยงานใหม่ภายใต้กระทรวงการคลัง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อผลักดันให้คนจนเหล่านี้ก้าวพ้นเส้นความยากจน

แนวคิดของ รมว.คลัง จะให้กองประชารัฐสวัสดิการ มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลของผู้ลงทะเบียนบัตรคนจนทั้งหมด และจัดเก็บนำมารวบรวมเพื่อประมวลผลในอนาคตว่า รัฐบาลควรจะออกนโยบายเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างไร ให้มีสวัสดิการที่ดี มีสุขภาพที่แข็งแรง และเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ เพื่อประกอบอาชีพ

และตามที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง โครงการ “มารดาประชารัฐ” ไว้ จะได้เห็นในปี 2563 แน่ๆโครงการนี้จะช่วยเหลือมารดาตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงเด็กอายุ 6 ขวบ

เงินช่วยเหลือจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.ระหว่างตั้งครรภ์รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 9 เดือน รวมเป็นเงินสูงสุด 27,000 บาท 2.เงินค่าคลอดบุตร 10,000 (จ่ายครั้งเดียว) 3.ค่าเลี้ยงดูบุตร 2,000 ต่อเดือน โดยตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ขวบ รวม 181,000 บาทต่อบุตร 1 คน

ปังไม่ปัง...คอยดู!!

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน

เคยโดดเด่นอย่างมากสมัยเป็น รมว.พาณิชย์ ในรัฐบาล คสช. ที่เข้าไปช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากด้วยการใช้ร้านธงฟ้าประชารัฐ และระดมร้านค้ารายย่อย ร่วมรับชำระสินค้าผ่านระบบคิวอาร์โค้ด เพื่อรับเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

เมื่อมานั่งแท่นกระทรวงพลังงาน จึงไม่ทิ้งแนวทางการบริหารลักษณะเดิมให้เข้าถึงเศรษฐกิจฐานราก จึงเกิดนโยบาย “Energy for All” ขึ้น

ถามว่าคืออะไร? ตอบง่ายๆ นี่คือครั้งแรกของประเทศไทยที่ชาวบ้านจะได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

ครั้งแรกที่ชาวบ้านจะมีรายได้จากการขายวัตถุดิบเพื่อผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นพืชพลังงาน อาทิ ไผ่ หญ้าเนเปียร์ รวมไปถึงส่วนเกินที่เกิดจากภาคการเกษตร อาทิ ขี้เลื่อย ตอซังข้าว ซังข้าวโพด น้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม ก็นำมาผลิตไฟฟ้าได้เช่นกัน และได้รับเงินปันผลจากการร่วมลงทุน

หากชุมชนใดเข้มแข็งมากพอ ก็สามารถนำไฟฟ้ามาใช้ในชุมชน ในกระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือโอทอป เพื่อเป็นรายได้เพิ่มอีกทาง แนวคิดนี้ให้พลังงานเป็นจุดตั้งต้นของชีวิตชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่าย สร้างงาน สร้างอาชีพ ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน

อีกทั้ง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในการบริหารโรงงานไฟฟ้า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จึงวางเงื่อนไขให้มีภาคเอกชนเข้าร่วมทุนกับชุมชนเพื่อผลิตไฟฟ้า จะได้มีคนที่เป็นหลักในการบริหารงาน

Energy for All ของ รมว.สนธิรัตน์ ยังรวมไปถึงการส่งเสริมน้ำมัน บี 10 ที่เข้าไปดูดซับผลผลิตปาล์มส่วนเกินมาผลิตน้ำมัน เพื่อดึงราคาปาล์มที่เคยตกต่ำให้สูงขึ้น ตั้งแต่ 1 ม.ค.2563 ได้กำหนดให้น้ำมัน บี 10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศ และตั้งแต่ 1 มี.ค.2563 จะมีจำหน่ายทุกสถานีน้ำมันทั่วประเทศ

ชุมชนคงลุ้นนโยบายนี้กันน่าดู!!

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

ถูกสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลตั้งฉายา “รัฐอิสระ” เพราะทำแต่นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่สนภาพรวมของรัฐบาล

ในปี 2563 ยังคงเดินหน้าโครงการประกันรายได้พืชเกษตร 5 ชนิดของพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป จาก “ทำได้ไว ทำได้จริง เป็น ทำได้ต่อเนื่อง” คือ ข้าวเปลือก น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา

รองนายกฯจุรินทร์ ระบุว่า “ถ้าในปี 2563 รัฐบาลเบิกจ่ายเงินส่วนต่างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ครบตามงบประมาณที่ใช้ดำเนินการในโครงการนี้ทั้งสิ้น 67,773 ล้านบาท จะมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าเพิ่มขึ้นได้อีก 0.44% เม็ดเงินนี้ส่งตรงไปถึงมือเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีเงินจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ตรงจุดที่สุด และมีผลทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้นได้”

เขาว่า การดำเนินโครงการในปี 2563 จะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมาตรการเสริมทางด้านการตลาดเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระดับราคา และเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน จะทำควบคู่กันไปจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้จะสูงขึ้น

ส่วนด้านการส่งออก อีกหนึ่งในภารกิจสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2563 จะยังคงได้เห็น “จุรินทร์” ทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าเซลส์แมน” ประเทศไทย นำคณะผู้แทนการค้าจากกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน เดินทางไปเจรจาการค้าใน 18 ประเทศ รวม 16 ทริป ทั้งอินเดีย ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ ฮ่องกง จีน เวียดนาม ฝรั่งเศส อังกฤษ ตะวันออกกลาง รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ติมอร์เลสเต เกาหลีใต้ บังกลาเทศ มัลดีฟส์ กัมพูชา

จะได้เห็นการเปิดเจรจากับประเทศใหม่ๆ เพื่อขยายโอกาสการส่งออก และลดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งจะช่วยผลักดันให้การส่งออกไทยปี 2563 มีโอกาสขยายตัว

ต้องรอชมผลงานของ “หัวหน้าเซลส์แมน”!!

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

บทบาทของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในมุมมองของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ให้ความสำคัญลำดับแรกกับการบริหารจัดการแหล่งน้ำทั้งระบบก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และแก้มลิง เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานต่อเนื่องจากปี 2562 ที่เพิ่มได้ 33.53 ล้านไร่ เพื่อให้มีน้ำอุปโภค บริโภคเพียงพอ

เพราะเขามองว่า ในปี 2563 ประเทศไทยอาจเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ฝนทิ้งช่วงค่อนข้างนาน และจะเกิดสถานการณ์แล้งต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอีสาน ทุ่งภาคกลาง และภาคเหนือบางส่วน การบริหารเพื่อจัดสรรน้ำจึงต้องเป็นไปอย่างเข้มงวด ต้องเตรียมน้ำต้นทุนการผลิต เตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักร และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำ ไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ในปี 2563 จึงจะใช้ “การตลาดนำการผลิต” ผ่านแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ “ลาซาด้า” เพื่อผลักดันให้เกษตรกรไทย ผันตัวเองเป็นเกษตรกร 4.0

เริ่มจากกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ที่มีกว่า 6,000 แปลง มีเกษตรกรมากกว่า 350,000 ราย สหกรณ์การเกษตรกว่า 3,000 แห่ง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกว่า 86,000 แห่งทั่วประเทศ

คนกลุ่มนี้จะถูกอบรมโดยความร่วมมือของกระทรวงเกษตรฯกับ “ลาซาด้า” เพื่อให้เป็นผู้ประกอบการออนไลน์ ที่สามารถทำธุรกิจการเกษตรได้อย่างครบวงจร

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรและมุ่งหาวิธีลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรเพื่อดูแลให้ครบวงจร

ให้เวลาถึงสิ้นปี 2563 มาประเมินกันอีกทีว่าสำเร็จหรือไม่!!

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

ผู้ที่มาพร้อมกับความฮอตของกระแสข่าวตั้งแต่ก้าวย่างเข้ามารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ชนิดที่ขึ้นติดท็อปชาร์ต ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียล เพราะ พรั่งพรูนโยบายชนิดไอเดียกระฉูดไม่เว้นแต่ละวัน พกความมั่นใจมาเกินร้อย

ในปี 2563 ต้องจับตาว่า “ศักดิ์สยาม” จะผลักดันให้ นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการโดยสารสาธารณะแบบถูกกฎหมายผ่านการเรียกให้บริการโดย “แอปพลิเคชัน” ได้สำเร็จจนเป็นผลงาน “ชิ้นโบแดง” ได้หรือไม่

ต้องบอกกันก่อนว่า นโยบายนี้ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากผู้ให้บริการรถแท็กซี่สาธารณะ วินมอเตอร์ไซค์ ถึงขั้นมีเรื่องมีราว แจ้งจับ ชกต่อย ดักกระทืบขึ้นโรงพัก

แต่กระทรวงคมนาคมยุคนี้ก็ผลักดันสุดลิ่ม ผ่านกรมการขนส่งทางบก ให้มีการแก้ไขกฎระเบียบ แก้ไขกฎหมายโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 โดยร่างเป็นกฎกระทรวงขึ้นมาใหม่ 2 ฉบับ สำหรับรถยนต์ 4ล้อฉบับแรกเป็นร่างกฎกระทรวงให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถมารับจ้างเป็นรถสาธารณะได้โดยเรียกผ่านแอปพลิเคชัน กำหนดให้เป็นรถส่วนบุคคลมีที่นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง อายุของรถไม่เกิน 9 ปี คนขับต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะ

ฉบับต่อมาเป็นร่างกฎกระทรวงให้ผู้ประกอบการ แอปพลิเคชัน จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมายื่นขออนุญาตเพื่อเป็นผู้ดำเนินการ แอปพลิเคชัน ประกอบการรับจ้างรถสาธารณะที่สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการได้ ซึ่งต้องมีระบบตรวจสอบอัตลักษณ์ทั้งคนขับและรถ

ต้นปี 2563 มานั่งรอลุ้นเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แว่วมาว่าไม่เกินกลางปี 2563 จะเห็นการเรียก “แกร็บ คาร์” แบบถูกกฎหมาย หรือจะมีรายใหม่เกิดขึ้นตามมาอีก

ส่วนรถจักรยานยนต์คงต้องหาวเรอรอกันไปก่อน เพราะปัญหามันเยอะ รายละเอียดมันมาก!!

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ลั่นวาจาไว้ว่า ในกลางปี 2563 ประชาชนจะต้องได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการระบบสาธารณสุขของประเทศไทย

ภายหลัง “พุทธิพงษ์” ได้หารือกับ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ที่จะบูรณการเชื่อมข้อมูลของประชาชนที่มารักษาพยาบาล ด้วยการใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว สามารถใช้บริการได้ทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน โดยเฉพาะกรณีฉุกเฉิน และกรณีย้ายโรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องขอข้อมูล หรือใบส่งตัวจากแพทย์ที่รักษา

ยกตัวอย่าง คนกรุงเทพฯเมื่อไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่บังเอิญไม่สบายกะทันหัน บัตรประชาชน พยาบาลก็ไม่ต้องกรอกข้อมูลใหม่ ไม่ต้องบอกว่าแพ้ยาอะไร เพราะข้อมูลเชื่อมกันหมดแล้ว จะทำให้ขั้นตอนการพบแพทย์รวดเร็วขึ้น

“ทุกวันนี้ หากประชาชนไปใช้บริการโรงพยาบาล ก็จะมีบัตรประจำโรงพยาบาลนั้น ไป 5 โรงพยาบาล ก็มี 5 ใบ และเจอคำถามก็ถามซ้ำๆ แต่นับจากนี้ไปอีก 6-7 เดือน โฉมหน้าการเข้าไปใช้บริการโรงพยาบาล เพื่อการรักษาพยาบาลจะเปลี่ยนไป ด้วยการยื่นบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ผมสัญญาว่าจะทำให้ได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่ดีขึ้น”

ในอนาคตจะพัฒนาถึงระบบการจองคิวการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ เพื่อประชาชนไม่ต้องไปรอคิวตั้งแต่เช้า หรือรอนาน เหมือนในปัจจุบัน

ผู้ป่วยทั้งหลายช่วยกันจับตาดูว่าภายในปี 2563 จะสะดวกปรื๋อตามท่านว่ามั้ย!!

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม

“ผมจะแปรวิกฤติให้เป็นโอกาส ในช่วงจังหวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะสมดุล เราต้องดึงนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในประเทศไทย”

เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของภาคอุตสาหกรรม ที่ถือเป็นสัดส่วนที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ถึง 30% ของจีดีพีรวม

“สุริยะ” ระบุว่า ในปี 2563 ได้สั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง (New S-Curve) ใน 3 อุตสาหกรรมก่อน คือ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ให้บรรลุผลการลงทุนผลิตชิ้นส่วนของยานยนต์แห่งอนาคต ที่ถือเป็นหัวใจของการไปสู่ฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนเข้าถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่เอื้อมถึง

อันดับต่อมา คืออุตสาหกรรมชีวภาพ จะเน้นการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนบริหารโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการที่สนใจนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไปใช้ในภาคการผลิต ด้วยแพลตฟอร์ม ITP (Industrial Transformation Platform)

จากนั้นจะเร่งหามาตรการสนับสนุนการลงทุนในกลุ่ม อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ต่อไป

นอกจากนี้ จะสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตร และสนับสนุนเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงกลไกการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

ตลอดจนร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ฝึกงานให้นักศึกษาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เพื่อเป็นการสร้างแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ (Entrepreneur) ด้วย

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา

“ผมจะแจ้งเกิดคอนเสิร์ตระดับโลก Tomorrow Land ที่ประเทศไทย ในปี 2563 ให้ได้ และขอพูดถึงงานชิ้นเดียวเลย ที่ผมมองว่าจะเป็นชิ้นโบแดง”

“พิพัฒน์” บอกว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะตามกับคอนเสิร์ตนี้มาเป็นกลุ่มไฮเอนด์ เป็นคนรุ่นใหม่ วางแผนจัดคอนเสิร์ต 6 วัน แต่วางโปรแกรมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ในไทย 10 วัน

โดยจัดให้มีคอนเสิร์ต วันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ จากนั้นวันจันทร์-วันพฤหัสบดี รวม 4 วัน ให้ไปเที่ยว และกลับมางานคอนเสิร์ตอีกในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เชื่อว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 100,000 คน และเป็นนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักทั้งสิ้น เฉพาะค่าชมคอนเสิร์ต สูงมากกว่า 20,000 บาทต่อหัว และไหนจะพักอยู่ในไทยอีกรวม 10 วัน

ขณะนี้วางกำหนดให้จัดขึ้นช่วงเดือน พ.ย. 2562 ซึ่งทางยุโรปจะหนีหนาว และตรงกับฤดูท่องเที่ยวของไทย

สำหรับสถานที่จัดคอนเสิร์ตไม่พัทยา ก็ชะอำ แต่แนวโน้มจะเป็นพัทยามากกว่าเพราะใกล้สนามบินอู่ตะเภา ที่ขึ้นลงได้ทั้งเครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดใหญ่และเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว

“วันที่ 14-16 ม.ค.2563 จะมีทีมงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และคณะของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) เดินทางไปเจรจากับเจ้าของลิขสิทธิ์การจัดงานที่ประเทศเบลเยียม เบื้องต้นมีสัญญาการจัด 3 ปี แต่ไทยต้องการ 5 ปี ภายใต้ค่าลิขสิทธิ์ที่ภาครัฐจะจ่าย 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประมาณ 90 ล้านบาท ส่วนที่เหลือให้ภาคเอกชนร่วมจ่าย”

เขาบอกว่าทำได้ 100%

เหล่านี้ คือ ถ้อยคำของรัฐมนตรีจาก 8 กระทรวงเศรษฐกิจ หากทำได้สำเร็จจะไม่เป็นเพียงผลงานชิ้นโบแดงของรัฐมนตรีเหล่านั้น แต่จะเป็นของขวัญชิ้นโบแดงที่ประชาชนได้รับและจะจดจำท่านไว้ด้วย.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ