พลังงานปรับแผน “พีดีพี” 2018 ครั้งที่ 1 ในส่วนของพลังงานทดแทน โดยยังคงเป้าหมายแผนการรับซื้อไฟฟ้าไว้เท่าเดิมที่ 18,696 เมกะวัตต์ แต่ปรับเป้าหมายรายเชื้อเพลิงใหม่ หลังโซลาร์ภาคประชาชนพลาดเป้า ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนใต้ล่าช้า พร้อมเด้งรับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพลังงานว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-80 (พีดีพี 2018) ครั้งที่ 1 เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเบื้องต้นจากการขอความเห็นจากหลายฝ่าย เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ฯลฯ ส่วนใหญ่เห็นว่าควรคงเป้าหมายแผนการรับ ซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้เท่าเดิมที่ 18,696 เมกะวัตต์ แต่จะปรับเป้าหมายรายเชื้อเพลิงใหม่ คาดว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จ และประกาศใช้ได้ภายในไม่เกินกลางปี 63
สำหรับสาเหตุที่ต้องปรับปรุงแผนพีดีพี 2018 ใหม่ เพราะโครงการโซลาร์ภาคประชาชนปี 62 ที่ กำหนดรับซื้อนำร่องปีแรก 100 เมกะวัตต์ ไม่เป็นไปตามแผน และโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ล่าช้า ขณะเดียวกัน เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพไม่ได้แยกให้ชัดเจนระหว่างน้ำเสีย/ของเสียกับพืชพลังงาน และที่สำคัญต้องรองรับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ด้วย
ทั้งนี้ จากการฟังความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่เห็นว่าควรดำเนินโครงการโซลาร์ ภาคประชาชนต่อ แต่เสนอให้ปรับลดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำหนดไว้ 10,000 เมกะวัตต์ สิ้นสุดปี 80 ให้เหลือ 9,000 เมกะวัตต์ เพราะโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย ล่าสุดมีผู้เสนอติดตั้งและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมเพียง 1,500 กิโลวัตต์ จากเป้าหมายใน 10 ปี (ปี 62-71) ที่ 1,000 เมกะวัตต์ และทยอยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์ รวมถึงเสนอให้ปรับรูปแบบโครงการใหม่ ให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยไม่มีการเพิ่มอัตราการรับซื้อ ตามที่กำหนด 1.68 บาทต่อหน่วย ในระยะ 10 ปี
นอกจากนี้ยังเสนอให้ปรับรูปแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าชุมชนแทน รวมถึงยังเสนอให้เพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน เป็น 1,000 เมกะวัตต์ จากแผนเดิม 363 เมกะวัตต์ ในปี 80 เพื่อสนับสนุนนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน ที่สอดรับกับศักยภาพของพื้นที่การปลูกหญ้าเนเปียร์ รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานน้ำขนาดเล็กอีกราว 70 เมกะวัตต์ โดยแผนที่ปรับปรุงใหม่นี้จะมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้รายได้ตกถึงชุมชนแท้จริง ด้านนายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 16 ธ.ค.นี้ ได้พิจารณาแนวทางส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน ส่วนโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ยอมรับว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการน้อย จึงต้องรอนโยบายจากนายสนธิรัตน์ก่อน จากนั้นจะนำมาปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงาน ทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี 2015) ให้เป็นเออีดีพี 2018 เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย
ส่วนนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.ได้รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโซลาร์ภาคประชาชนให้กับกระทรวงพลังงานรับทราบ แต่จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ อยู่ที่การตัดสินใจระดับนโยบาย อย่างไรก็ตาม การยื่นข้อเสนอโซลาร์ภาคประชาชนที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ปี 62 ที่กำหนดไว้ 100 เมกะวัตต์ จากการพิจารณาข้อเท็จจริงครัวเรือนที่จะติดตั้งหากใช้ไฟฟ้าเพียงเดือนละ 2,000-3,000 บาท การลงทุนติดตั้งโซลาร์ที่มีราคาสูงถึง 200,000 บาท จะไม่คุ้มค่ากับการขายไฟระยะเวลา 10 ปี.