ธปท.เปิดผลการศึกษา “ความเหลื่อมล้ำ” ประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำโดยรวมดีขึ้น แต่ยังสูงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน คนจนสุด มีรายได้ต่ำกว่าคนรวยสุด 10.3 เท่า ขณะที่ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ยังสูงมาก และมีโอกาสสูงขึ้นจากเศรษฐกิจที่โตกระจุกใน กทม.และปริมณฑล
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำรายงานเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำประเทศไทย ทำไมไม่เท่าเทียม” ซึ่งเป็นงานศึกษาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจไทย (Thematic studies) โดยสายนโยบายการเงิน พบว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีหลายมิติ และเป็นหนึ่งในความท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ทั้งนี้จะแบ่งออกเป็น 3 งานศึกษา งานแรก คือภาพความเหลื่อมล้ำของไทยในศตวรรษที่ 21 ซึ่งพบว่า แม้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จะดีขึ้นเล็กน้อยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระดับสูง และมีหลายมิติ เช่น ทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งความเหลื่อมล้ำด้านการสร้างรายได้ ด้านโอกาส ด้านคุณภาพชีวิต ยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นกัน
ในรายงานของ World Economic Forum ปี 61 ชี้ว่าระดับ ความไม่เสมอภาคของไทยสูงเป็นอันดับที่ 25 จาก 107 ประเทศทั่วโลก สูงกว่าเวียดนาม ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 29 สิงคโปร์ อันดับที่ 36 อาร์เจนตินา อันดับที่ 45 ญี่ปุ่น อันดับที่ 87 อีกทั้งความแตกต่างของรายได้เฉลี่ยระหว่างกลุ่มประชากรหัวแถว 20% ที่มีรายได้สูงที่สุด และประชากรท้ายแถว 20% มีรายได้ต่ำสูงแตกต่างกันถึง 10.3 เท่าในปี 58 และหากพิจารณาในมิติของจำนวนคนจนพบว่า มากกว่า 50% ของคนจนทั้งประเทศอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากนัก
งานศึกษาที่ 2 ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เชิงพื้นที่ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ปี 61 พบว่า ในหลายภูมิภาคมีรายได้ต่อหัวที่ต่ำกว่ากรุงเทพฯมาก โดยเฉพาะภาคอีสานที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าถึง 9 เท่า และระยะยาวจะส่งผลต่อความเข้มแข็งในการเติบโตทางเศรษฐกิจเนื่องจากเชื่อมโยงถึงงบประมาณ โครงสร้างการบริหารราชการ การเมือง ที่น่าเป็นห่วงคือ เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลักทำให้โอกาสสร้างรายได้ในภูมิภาคอื่นยิ่งเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เป็นต้น งานศึกษาที่ 3 ด้านรายได้ในมิติอาชีพ ภายใต้แนวคิดที่ว่า ถ้ารัฐบาลมีงบจำกัดแล้ว กลุ่มอาชีพที่ควรได้รับความสนใจเป็นอันดับแรกคือ ครัวเรือนเกษตรกรที่มีรายได้สุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 16,000 บาทต่อเดือน แต่ความเป็นจริง 60% มีรายได้สุทธิต่อเดือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาชีพ.