ทุ่มแสนล้านผลิตน้ำรองรับอีอีซี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทุ่มแสนล้านผลิตน้ำรองรับอีอีซี

Date Time: 7 ธ.ค. 2562 06:01 น.

Summary

  • “บิ๊กป้อม” ไฟเขียวโครงการพัฒนาแหล่งน้ำป้องกันการขาดแคลนน้ำในพื้นที่อีอีซี วงเงิน 110,230 ล้านบาท เตรียมตัวเมืองไทยผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

Latest

“เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ในประเทศไทย จังหวัดไหนบ้าง? ที่ทำเลมีศักยภาพ พร้อมให้ทุนใหญ่ลงทุน


แก้ขาดแคลน-ดูแลสาธารณสุข-จัดการขยะชุมชน

“บิ๊กป้อม” ไฟเขียวโครงการพัฒนาแหล่งน้ำป้องกันการขาดแคลนน้ำในพื้นที่อีอีซี วงเงิน 110,230 ล้านบาท เตรียมตัวเมืองไทยผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ด้าน “ลุงตู่” ประชุมบอร์ดอีอีซี ชี้ถึงเวลาดูแลคนในพื้นที่ให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง พร้อมอนุมัติแผนยกระดับสาธารณสุข และการจัดการขยะ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในปี 2563-2580 ซึ่งจะใช้งบลงทุนมากกว่า 110,230 ล้านบาท เนื่องจากมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ จึงต้องขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม เช่น การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล หรือการให้สัมปทานเอกชนพัฒนาระบบน้ำสำรอง

“จากการประเมินความต้องการใช้น้ำในพื้นที่อีอีซี พบว่าในปี 2580 มีความต้องการ 3,089 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 670 ล้าน ลบ.ม. จึงต้องมีแหล่งน้ำเพิ่มเติมและบริหารจัดการการใช้น้ำ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือปี 2563-2570 ประกอบด้วย การปรับปรุงเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม 6 แห่ง ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ 10 แห่ง ปรับปรุงระบบผันน้ำเดิม 2 ระบบ ก่อสร้างระบบผันน้ำใหม่ 2 ระบบ พัฒนาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากให้เป็นแก้มลิง ก่อสร้างระบบผลิตน้ำจืดจากทะเล จะสามารถมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 706.19 ล้าน ลบ.ม. และในช่วงปี 2571-2580 ประกอบด้วย ก่อสร้างระบบสูบกลับ 2 ระบบ อุโมงค์ส่งน้ำอ่างเก็บน้ำ คลองพระสะทึง-คลองสียัด และระบบผันน้ำใหม่ 2 ระบบ จะมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 166 ล้าน ลบ.ม.”

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า นายกฯได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าตอนนี้การทำงานของอีอีซีในภาพใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานเดินไปข้างหน้าได้ระดับหนึ่งแล้ว ในช่วงต่อไปจึงขอให้ทำงานในเรื่องที่คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์แท้จริง โดยเฉพาะการดูแลผู้มีรายได้น้อย การดูแลสภาพแวดล้อม รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การรักษาพยาบาลทางไกลโดยใช้เทคโนโลยีและการดูแลผู้พิการ

พร้อมกันนี้ได้อนุมัติแผนการยกระดับบริการสาธารณสุขในอีอีซี โดยมีหลักการ 3 ด้านรวม 14 โครงการ ได้แก่ 1.การจัดทำข้อมูลชุดเดียวกัน สำหรับพัฒนาระบบข้อมูลให้ครอบคลุมในพื้นที่ 2.รัฐและเอกชนร่วมทุน จัดทำการบริการในโรงพยาบาลให้คล่องตัว เพื่อความสะดวกของประชาชน 3.เครือข่ายเดียว ระบบเดียว บริการรัฐแนวใหม่อาศัยการทำงานบนความร่วมมือของเครือข่ายภาครัฐสังกัดต่างๆ ของ อปท. และเอกชน โดยใช้ทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรอื่นร่วมกัน

นอกจากนี้ ได้เห็นชอบการจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี สู่ต้นแบบการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน เนื่องจากสถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่อีอีซี คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 4,200 ตัน/วัน ในปี 2561 เป็น 6,800 ตัน/วัน ในปี 2580 แต่ปัจจุบันยังขาดการบริหารจัดการ และขยะที่เกิดขึ้นก็มีปริมาณมากขึ้นทุกวัน ซึ่งหากยังใช้การฝังกลบแบบเดิม นอกจากขยะไม่ย่อยสลายแล้ว ก็ยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งต้องหาพื้นที่เพิ่ม เพื่อรองรับปริมาณขยะที่สูงถึง 1.66 ไร่/วัน ดังนั้น จึงเสนอแนวทางขยายผลต้นแบบของระยองโดยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบในพื้นที่เป้าหมายครอบคลุม 3 จังหวัด อีอีซีเพิ่มอีก 6 แห่ง ซึ่งสามารถกำจัดขยะมูลฝอยทั้งรายวันและขยะสะสมรวม 6,000ตัน/วัน สามารถผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะได้ 120 เมกะวัตต์ จะสามารถกำจัดขยะที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน และกำจัดขยะที่สะสมได้กว่า 5.57 ล้านตัน ในพื้นที่อีอีซีให้หมดภายใน 12 ปี

ดังนั้น จึงมีมติให้ สกพอ.ประสานจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการบริหารจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี ต้นแบบการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน ทั้งขยะบก บนเกาะ และในทะเล ให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยให้กลุ่มบริษัท ปตท. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เข้าร่วมศึกษา และให้จังหวัดในพื้นที่อีอีซีเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้งโรงงานขยะ และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ตลอดจนให้กระทรวง พลังงานพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่อีอีซีด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ