“BCG Model” ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม” เพิ่มมูลค่าธุรกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“BCG Model” ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม” เพิ่มมูลค่าธุรกิจ

Date Time: 25 พ.ย. 2562 06:15 น.

Summary

  • ตลอด 4-5 ปีของรัฐบาล “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนไทยได้ยินคำว่า “ไทยแลนด์ 4.0” จนติดปาก ติดหู

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ตลอด 4-5 ปีของรัฐบาล “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนไทยได้ยินคำว่า “ไทยแลนด์ 4.0” จนติดปาก ติดหู

บรรดาคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจ นักวิชาการ ก็พอจะจับทางได้ว่าต้องเดินไปในทิศทางไหนถึงจะสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล แต่ตาสี ตาสา ยายมี ยายมา ที่อยู่กันในท้องไร่ท้องนา ไม่เคยมองออกว่าพวกเขาจะเกี่ยวข้องกับ “ไทยแลนด์ 4.0” ได้อย่างไร

แม้รัฐบาลพูดอยู่ตลอดว่า ชาวนาต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรอัจฉริยะ แต่ชาวนาก็ยังคงงงอยู่ว่า...อิหยังว่ะ!

ในรัฐบาล “ลุงตู่ 2” นี้เอง จึงได้มีโมเดลเศรษฐกิจใหม่ออกมาภายใต้ชื่อ BCG Model โดยคาดหวังว่า โมเดลตัวนี้จะเป็นสิ่งที่จะทำให้ “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นรูปธรรมได้จริง และสามารถตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เชื่อมโยงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“ทีมเศรษฐกิจ” จึงได้พูดคุยกับ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้ที่เป็นหัวหอกปฏิบัติการเรื่องนี้ เพื่ออรรถาธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับ BCG Model ที่เขามองว่าเป็นโมเดลสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

4 ธุรกิจมูลค่าเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท

ดร.สุวิทย์กล่าวว่า BCG Model เป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆกันเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

“การพัฒนาประเทศไทยจะเริ่มจากศูนย์ไม่ได้ เราต้องพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่ และเศรษฐกิจ BCG มีอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ใน 4 สาขา มาจากความหลากหลายทางชีวภาพ 2 สาขา คือ 1.อาหารและการเกษตร 2.สุขภาพและการแพทย์ และมาจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม 2 สาขา คือ 1.พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ 2.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

ฉะนั้น 4 สาขาที่สำคัญเป็นจุดแข็งที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ณ วันนี้ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในปัจจุบันรวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีการจ้างงาน 16.5 ล้านคน แต่เมื่อนำ BCG Model มาขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ที่เรียกว่า STI หรือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้ง 4 สาขานี้จะเพิ่มมูลค่าได้ถึง 1 ล้านล้านบาท เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของ GDP จะมีการจ้างคนเพิ่มอีก 20 ล้านคน

นั่นคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นรูปธรรม เพราะวิธีการขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ในครั้งนี้จะใช้กลไกของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ที่มีองค์ความรู้อยู่ไปทำงานร่วมกับเอกชนและชุมชน นอกจากนั้นจะต้องมีการลงทุนจากต่างประเทศด้วย

“ต่อไปสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ต้องนำเอาบริษัทที่มีองค์ความรู้มาลงทุนในประเทศไทย ไม่ใช่เอาบริษัทอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นบริษัทที่สามารถมาต่อยอดให้กับประเทศไทย ในด้านของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้”

ยกระดับการเกษตรของไทย

ถามว่า ชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไร ชาวนาจะกลายเป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรอัจฉริยะได้อย่างไร ดร.สุวิทย์ยกตัวอย่างให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้เข้าไปหาชาวบ้าน และชุมชน โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสนับสนุนให้ เพราะการพัฒนาภายใต้โมเดลนี้จะเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

มีตัวอย่างโครงการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำงานร่วมกับผู้ผลิต ผู้ส่งออก และเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ นำเทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงพันธุ์ และใช้เทคโนโลยีโรงเรือนและระบบการจัดการน้ำและปุ๋ย จะสามารถเพิ่มการผลิตและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ และจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ให้เป็น 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 50% ของมูลค่าการส่งออกในปัจจุบัน

หรือโครงการยกระดับอุตสาหกรรมนมไทย นำการพัฒนาอาหาร การจัดการฟาร์ม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยจะมีการนำเทคโนโลยีการห่อหุ้มและกักเก็บ มาใช้ในการแปรรูปน้ำนม

ในปี 2563 จะสามารถผลิตนมอัดเม็ดเกรดพรีเมียม นมผงสำหรับเด็กในพื้นที่ห่างไกลและชุมชนชายแดน เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมูลค่า 6,300 ล้านบาท ภายใน 4 ปี จะมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมราว 18,000 ราย ได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำนมดิบภายในประเทศ

เด็กนักเรียนในชุมชนชายแดนและพื้นที่ห่างไกล จะได้รับสารเสริมวิตามินที่เหมาะสมตามวัย และลดการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ อย่างน้อยปีละ 220 ล้านบาท

และโครงการสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีถังเลี้ยงปลาระบบน้ำหมุนเวียน น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถหมุนเวียนกลับไปใช้เลี้ยงปลาในถังได้ต่อไป สามารถใช้คนเพียงคนเดียวในการดูแลบำรุงรักษา ลดปริมาณการใช้น้ำต่อวันลงมากกว่า 95% ลดโอกาสติดเชื้อโรคจากภายนอก อัตราการรอดของปลาอยู่ในระดับ 90-100% ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ใช้พื้นที่น้อยลง ประหยัดพลังงาน เพิ่มความหนาแน่นของปลาจากบ่อดินที่ 900 กก./ไร่ ไปเป็น 64,000 กก./ไร่

เมื่อเห็นตัวอย่างข้างต้นแล้ว นั้นคือ การทำเกษตรของไทยจะไม่ใช่เกษตรดั้งเดิมอีกต่อไป ต่อไปต้องเป็นระบบเกษตรแม่นยำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากร

ขายสินค้าจาก “ตัน” เป็น “กรัม”

ดร.สุวิทย์กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเกษตรเกี่ยวข้องกับคนมากกว่า 12 ล้านคน แต่มากกว่า 90% ของพื้นที่เพาะปลูกของประเทศไทยปลูกพืชเพียง 6 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และปาล์มนํ้ามัน ซึ่งเป็นสินค้าที่รัฐต้องเข้าไปอุดหนุนทุกปี

ดังนั้น การยกระดับผลผลิตทางการเกษตร จะสร้างความแตกต่าง และมูลค่าเพิ่ม เช่น เนื้อวัวทั่วไปมีราคาจำหน่าย 250 บาท/กิโลกรัม แต่เนื้อวัวโพนยางคําราคา 750 บาท/กิโลกรัม จึงเป็นวิธีการเปลี่ยนรูปแบบจากการ “ผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย” ไปสู่การผลิตสินค้าพรีเมียมที่ “ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก”

ต่อไปภาคการเกษตรต้องใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ในการควบคุมการเพาะเลี้ยง เพาะปลูกที่ให้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิผลของวัตถุดิบการเกษตรให้สูงขึ้น

เปลี่ยนจากการ “ขายเป็นตัน” เป็นการ “ขายเป็นกิโลกรัม” หรือกรัม เป็นอีกแนวทางที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น สารสกัดจากข้าวราคา 2,400 บาท/กิโลกรัม และสารสกัดแคปไซซินจากพริก 30,000 บาท/กิโลกรัม เป็นต้น

หรือมีตัวอย่างในปี 2560 ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ประมาณ 400,000 ล้านบาท คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านล้านบาท เมื่อประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมรวมกันกว่า 100,000 ล้านบาท

แต่ถ้าต่อไปประเทศไทยมีการพัฒนาตรงนี้ก็จะลดค่าใช้จ่ายออกนอกประเทศ ได้มหาศาล

พัฒนาพลังงานรวยมหาศาล

สำหรับเรื่องพลังงาน พบว่าประเทศไทยนำเข้าพลังงาน 60% ของความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศ ขณะที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานทดแทนในระดับสูง เนื่องจากมีผลผลิตทางการเกษตร ขยะ และของเสียจากกระบวนการผลิตจำนวนมาก รวมถึงพลังงานจากแสงอาทิตย์

จึงเอื้อต่อการผลิตเป็นพลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้นจาก 15.5% ในปี 2561 เป็น 30% ของปริมาณการใช้พลังงานภายในปี 2579

ขณะที่การคิดค้นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ จะสามารถทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากปิโตรเลียมได้ มีการคาดการณ์ว่าตลาดผลิตภัณฑ์ชีวภาพจะเพิ่มจาก 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 เป็น 487,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2567

เป็นโอกาสสําหรับประเทศไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่มอีกหลายเท่าตัว เช่น ชานอ้อยกิโลกรัมละ 1 บาท เมื่อพัฒนาเป็นสารประกอบที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอางและอาหาร มูลค่าจะเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 260 บาท และเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 1,000 บาท เมื่อพัฒนาเป็นสารประกอบในการผลิตยา หรือใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic)

หรือการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากภาคอุตสาหกรรมหรือการผลิตก๊าซชีวภาพ ไปใช้ในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่สามารถนำชีวมวลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอเมทานอล (Biomethanol) ที่ใช้ในการผลิตไบโอดีเซล รวมทั้งใช้เป็นโครงสร้างเริ่มต้น (Building Block) ในการผลิตสารเคมี หรือชีวเคมีมูลค่าสูงหลายชนิด

วิธีการข้างต้นเป็นการปรับเปลี่ยนจากระบบ “เศรษฐกิจเชิง เส้นตรง” (Linear Economy) คือใช้ทรัพยากรผลิตสินค้า ใช้งานและกำจัด มาเป็นระบบ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ได้อย่างสมบูรณ์ผ่านกระบวนการผลิตสินค้า ใช้งาน และนำกลับมาใช้ใหม่

ท่องเที่ยวไทยรูปแบบใหม่

ในด้านของการนำ BCG MODEL มาพัฒนาการท่องเที่ยว ดร.สุวิทย์กล่าวว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยมากกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่รายได้ 80% กระจุกตัวอยู่เพียง 8 จังหวัด ทําให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายกระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น มีการแย่งชิงทรัพยากรจากคนในพื้นที่

จึงต้องมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่โดยกระจายแหล่งท่องเที่ยวสู่เมืองรอง จึงเป็นแนวทางด้วยการบริหารจัดการที่ดี การให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism) การชูอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เชื่อมโยงกับจุดแข็งของประเทศ เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนตํ่า การท่องเที่ยวเชิงความรู้และยกระดับการท่องเที่ยวมูลค่าสูง

นอกจากนี้ การพัฒนาระบบ Public Payment Gateway สําหรับการ ท่องเที่ยวเพื่อให้ได้ข้อมูลการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนบริหารจัดการการท่องเที่ยวยุคใหม่

ดร.สุวิทย์กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในอนาคต BCG ต้องอยู่บนฐานดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น internet of Things, Big Data, AI จะต้องนำมาให้อยู่ในกระบวนการตั้งแต่การสร้างวัตถุดิบจนถึงการเพิ่มมูลค่า ในกระบวนการอาหารและการเกษตร การแพทย์ การท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้ ประเทศไทยมีการเริ่มพัฒนาพวกนี้แล้วแต่ยังสะเปะสะปะ เมื่อรวบมาบริหารจัดการและใช้องค์ความรู้จะเปลี่ยนสิ่งที่เคยเห็น

สำหรับการขับเคลื่อน BCG MODEL ต่อจากนี้ ดร.สุวิทย์ ระบุว่าอยู่ระหว่างหารือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการระดับนโยบาย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้ BCG Model เป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศไทยในศตวรรษที่ 21.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ