ทร.แจงศาลปกครองสูงสุด คืนสิทธิซีพีประมูลอู่ตะเภา ทำลายระบบภาครัฐ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ทร.แจงศาลปกครองสูงสุด คืนสิทธิซีพีประมูลอู่ตะเภา ทำลายระบบภาครัฐ

Date Time: 8 พ.ย. 2562 08:10 น.

Summary

  • กองทัพเรือ (ทร.) เดือดแจงศาลปกครองสูงสุด หากพิพากษาคืนสิทธิซีพีเข้าประมูลสนามบินอู่ตะเภา จะทำลายระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สร้างค่านิยมใหม่ ทำผิดกฎได้ ถ้าให้ผลตอบแทนสูง ร้องประธานศาลปกครอง

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

กองทัพเรือ (ทร.) เดือดแจงศาลปกครองสูงสุด หากพิพากษาคืนสิทธิซีพีเข้าประมูลสนามบินอู่ตะเภา จะทำลายระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สร้างค่านิยมใหม่ ทำผิดกฎได้ ถ้าให้ผลตอบแทนสูง ร้องประธานศาลปกครองสูงสุด นำเรื่องเข้าที่ประชุมใหญ่ชี้ขาด ด้านตุลาการผู้แถลงคดีเสนอองค์คณะกลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็นคืนสิทธิ เหตุกระบวนตรวจรับเอกสารไม่ชัดเจน

เมื่อวันที่ 7 พ.ย.62 ศาลปกครองสูงสุดได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซีพี กับพวก รวม 5 ราย ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก กรณีมีมติไม่รับซองข้อเสนอด้านแผนธุรกิจ และด้านราคาในการยื่นข้อเสนอประมูลก่อสร้างโครงการดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก มายื่นเกิน เวลาที่กำหนด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองชั้นต้นได้มีพิพากษาให้ยกฟ้อง และบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาข้อเสนอด้านแผนธุรกิจและด้านราคาของ บริษัทธนโฮลดิ้ง ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้แถลงสรุปปิดคดีเพิ่มเติม องค์คณะก็จะมีการประชุมเพื่อจะมีคำพิพากษาต่อไป ซึ่งยังไม่ได้มีการแจ้งว่าจะเป็นเมื่อใด

สำหรับการแถลงสรุปปิดคดีเพิ่มเติม น.ส.ปะราลี เตชะจงจินตนา ผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทธนโฮลดิ้ง แถลงย้ำว่า สถานที่ยื่นข้อเสนอที่มีการกำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชนของโครงการนี้ (RFP)ระบุชัดเจนว่าเป็นห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ ไม่ใช่จุดลงทะเบียน ตามที่มีการนำมาอ้างและตัดสิทธิการยื่นข้อเสนอ ซึ่งโครงการนี้มีผู้ร่วมยื่นซองจำนวนมาก จึงมีการทยอยนำเอกสารมาทุกราย ซึ่งบริษัทธนโฮลดิ้ง ได้เข้ายื่นเอกสารครบถ้วนทุกรายการ และคณะกรรมการได้ตรวจรับไว้ทั้งหมด

พล.ร.ต.เกริกไชย วจนานนท์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกฯ แถลงแย้งว่า จุดลงทะเบียนบริเวณห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ ถือเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ยื่นข้อเสนอ และคณะกรรมการฯได้ยึดถือเรื่องเวลาเป็นสำคัญ โดยมีการกำหนดใน RFP ว่า เวลายื่นข้อเสนอคือ 09.00- 15.00 น. หากมายื่นหลังเวลา 15.00 น. จะไม่รับพิจารณา เพื่อปิดช่องไม่ให้มีการใช้ดุลพินิจเรื่องขยายเวลา และผู้ที่ปฏิบัติในสถานที่ดังกล่าวล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจใด หากมีการดำเนินการนอกหลักเกณฑ์

“บริษัทธนโฮลดิ้งเป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับบริษัทที่ได้สัมปทานโครงการก่อสร้างรถไฟ ความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งโครงการพัฒนา สนามบินอู่ตะเภา ก็ใช้หลักการและระเบียบวิธีการเดียวกัน มีเงื่อนเวลาเป็นหลักสำคัญ ซึ่งกลุ่มผู้ฟ้องก็ปฏิบัติได้แต่ทำไมในโครงนี้ถึงทำไม่ได้ การอ้างเรื่องจราจรติดขัด ถามว่าทำไมบริษัทที่เข้าร่วมประมูลอื่นทำได้ รวมทั้งมีข้อน่าสงสัยว่า เมื่อมาถึงจุดลงทะเบียนแล้วจริงอยู่ทุกบริษัทเอกสารไม่พร้อม แต่ก็ทยอยนำมาถึงสถานที่ยื่นข้อเสนอในเวลาถัดมาครบทั้ง 9 กล่อง มีบริษัทธนโฮลดิ้ง มีการทยอย นำมาถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 มาแค่ 7 กล่อง อีก 2 กล่อง ที่มาทีหลัง คือ แผนธุรกิจ และข้อเสนอด้านราคา ก็เพื่อประเมินคู่ต่อสู้ว่ายื่นราคาเท่าไร เพื่อที่ตัวเองจะได้แก้ไขเอกสาร แต่เกิดปัญหาจราจรเลยทำให้เอกสารมาถึงจุดลงทะเบียนในเวลา 15.09 น.”

พล.ร.ต.เกริกไชย แถลงต่อไปว่า ถ้าศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าเรื่องเวลาไม่ใช่สาระสำคัญ ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดก็เคยวินิจฉัยในคดีการประมูลก่อสร้างทางหลวงชนบท โดยตัดสิทธิ ผู้เข้าประมูลที่มายื่นซองช้าหลังกำหนดปิดรับซองไป 39 วินาที โดยกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีนี้ ให้บริษัทธนโฮลดิ้งได้สิทธิเข้าประมูล เท่ากับเป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และอาจทำให้เกิดค่านิยมใหม่ว่าต่อไปใครจะมายื่นซองเวลาไหนก็ได้หากให้ผลตอบแทนกับรัฐสูง รวมทั้งอาจเกิดค่านิยมใหม่ ว่าแม้ทำผิดกฎ แต่มีเงินจ้างทนายเก่ง และให้ประโยชน์รัฐมาก ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้งาน เพราะเงินชดเชยความผิดได้ คดีนี้มีมูลค่าโครงการ 270,000 ล้านบาทรัฐบาลมีความตั้งใจจะให้เป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ผู้ที่เข้าร่วมประมูลอย่างถูกต้อง 2 รายได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการคัดเลือกฯคัดค้านไม่ให้สิทธิบริษัทธนโฮลดิ้งกับพวกอีก ดังนั้น เพื่อให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใสและยุติธรรม คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงยื่นเรื่องต่อประธานศาลปกครองสูงสุด ให้นำคดีนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด แต่ก็ขึ้นกับดุลพินิจของประธานศาลปกครองสูงสุดว่าจะเห็นอย่างไร

จากนั้นองค์คณะได้ให้นายเชี่ยวชาญ สุขช่วย ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นประจำตุลาการศาลปกครองสูงสุดในฐานะตุลาการผู้แถลงคดี แถลงความเห็นส่วนตนต่อคดีซึ่งไม่มีผลต่อการพิจารณาขององค์คณะ ว่า ตามข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏว่ามีกระบวนการรับและตรวจเอกสารโดยวิธีการใดอย่างชัดเจน มีเพียงให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูลลงทะเบียนก่อนและให้ไปพักรอในห้องพัก ทำให้บริษัทธนโฮลดิ้งเพิ่มเอกสารบางรายการได้ นอกจากนี้ เมื่อบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ยื่นเอกสารแล้วก็มีการตรวจรับโดยไม่มีการทักท้วง หรือออกใบรับอย่างมีเงื่อนไขให้แต่อย่างใด จึงเสนอให้องค์คณะศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ