สั่งทุกกระทรวงเตรียมพร้อม ลุ้นออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกกระทอก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สั่งทุกกระทรวงเตรียมพร้อม ลุ้นออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกกระทอก

Date Time: 2 พ.ย. 2562 05:45 น.

Summary

  • ครม.เศรษฐกิจ สั่งให้ทุกกระทรวงจัดเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากสภาพัฒน์ประเมินว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะโตต่ำกว่า 2.7% มาก

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ครม.เศรษฐกิจ สั่งให้ทุกกระทรวงจัดเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากสภาพัฒน์ประเมินว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะโตต่ำกว่า 2.7% มาก ทำให้รัฐจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในช่วงท้ายปี โดยเน้นการบริโภคในประเทศ หลังตัวเลขไตรมาส 3 ส่งสัญญาณชะลอตัว ที่ประชุมยังรับทราบแนวทางการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ด้านพาณิชย์ชี้เงินเฟ้อ ต.ค.62 สูงขึ้นแบบชะลอตัว 0.11% เหตุราคาน้ำมันดิ่ง ส่วน “ชิม ช้อป ใช้-ประกันรายได้เกษตรกร”ช่วยหนุนกำลังซื้อ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 โดยประเมินว่า เศรษฐกิจชะลอตัวลงเล็กน้อย จากผลของสงครามการค้าระหว่าง สหรัฐฯและจีน ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวตาม โดยช่วง 2 เดือนสุดท้าย (พ.ย.-ธ.ค.) ก่อนสิ้นปี 62 รัฐบาลจะพิจารณาว่าสมควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือไม่ “เศรษฐกิจไตรมาส 3 แผ่วลงเล็กน้อย เนื่องจาก การบริโภคในประเทศชะลอตัว ผลจากการซื้อรถยนต์ใหม่ลดลง เพราะยังไม่มีรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด แต่คาดว่าไตรมาส 4 จะเริ่มดีขึ้น เพราะค่ายรถยนต์เริ่มทยอยออกรถรุ่นใหม่ ส่วนการส่งออก ท่องเที่ยวและสินค้าเกษตรเริ่มดีขึ้นแล้ว ดังนั้นเป้าหมายของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ จะเน้นไปที่การ บริโภคภายในประเทศเป็นหลัก โดยที่ประชุมได้สั่งให้ทุกกระทรวงจัดเตรียมมาตรการเอาไว้ล่วงหน้า”

ทั้งนี้ สศช.ได้ตั้งเป้าว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัวช่วง 2.7-3.2% ค่ากลางอยู่ที่ 3% โดย สศช.จะรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 วันที่ 18 พ.ย. และการประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันที่ 22 พ.ย. จะพิจารณาว่าสมควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ หากประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 2.7% มาก ซึ่งล่าสุด สหรัฐฯประกาศภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ออกมาแล้วไม่ค่อยดี รวมทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์

นอกจากนี้ ครม.เศรษฐกิจ ยังรับทราบแนวทาง ขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยกรุงเทพมหานคร(กทม.)และกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานผลดำเนินการและอุปสรรค เช่น การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ช่วงก่อสร้างสะพานตากสินที่ต้องปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าและเพิ่มรางรถไฟฟ้า รวมถึงผลกระทบการจราจรโดยรอบ ซึ่งผลศึกษา EIA จะแล้วเสร็จปลาย พ.ย.นี้ และจะนำเรื่องเข้า ครม.ต่อไป ส่วนการขยายสัญญาสัมปทานนั้น มีหลักการว่าค่าโดยสารต้องเป็นราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ไม่ใช่สูงถึง 150 บาทตลอดสาย และการให้บริการต้องคำนึงถึงความสะดวกของประชาชน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีแนวโน้มที่ดี โดยจะนำเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป “หัวใจคือความสะดวกสบาย ให้ประชาชนสามารถขึ้น-ลงรถได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ค่าโดยสารต้องไม่แพงเกินไป ซึ่งถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ได้ แต่ข้อสรุปทั้งหมดยัง ไม่สามารถเปิดเผยได้ต้องรอประชุม ครม.ก่อน”

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ครม.เศรษฐกิจยังได้รับทราบแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมครบวงจร ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมทั้งหมด 13 มาตรการ 7 ด้าน คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาทักษะและวางระบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด กองทุนล้มแล้วลุก การพัฒนาบิ๊กดาต้า (Big Data) และบริการแบบครบวงจร โดยมีสาระ สำคัญคือ มีวงเงินสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท และเงิน จากกองทุนล้มแล้วลุก หากลูกหนี้ชำระหนี้คืนแล้วไม่ต้องส่งคืน แต่ให้ สสว.นำเงินนี้ไปเป็นสินเชื่อหมุนเวียนต่อไป

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในฝั่งของกระทรวงพาณิชย์ นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)ได้เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนต.ค.62 ว่า เท่ากับ 102.74 สูงขึ้น 0.11% เมื่อเทียบ กับ เดือน ต.ค.61 แต่ถือว่าสูงขึ้นแบบชะลอตัว โดยชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 28 เดือน และเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.62 ลดลง 0.16% ขณะที่ดัชนีเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 62 สูงขึ้น 0.74% จากช่วง เดียวกันปีก่อน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักสินค้าอาหาร สดและพลังงานออกจากการคำนวณ เดือน ต.ค.62 ดัชนีอยู่ที่ 102.74 เพิ่มขึ้น 0.44% เทียบกับ ต.ค.61 และเพิ่มขึ้น 0.04% เทียบกับ ก.ย.62 ขณะที่รวม 10 เดือน เพิ่ม 0.53%
“เงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค.62 ที่สูงขึ้นแบบชะลอตัวที่ 0.11% เพราะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงมากมาอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล จาก ต.ค.61 อยู่ที่ 80 เหรียญ/บาร์เรล แต่ถ้าตัดราคาพลังงานออก เงินเฟ้อเดือน ต.ค.62 จะเพิ่มขึ้น 1.18% ถือว่า อยู่ในระดับดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการชิม ช้อป ใช้ของรัฐบาล ที่เพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงการประกันรายได้ ที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ มาตรการชิม ช้อป ใช้ จะมีผลให้เศรษฐกิจ เติบโตได้ แต่ไม่มีผลผลักดันให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ส่วนหนึ่งที่มาตรการนี้ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ เพราะห้างร้านต่างๆ ได้ยกเลิกการจัดโปรโมชันแล้วกลับมาขายสินค้าราคาปกติ จากที่ผ่านมาจัดโปรโมชันลดราคาสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นยอดซื้อ จึงดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ