เมื่อเศรษฐกิจโลกขาลงกำลังมา เครื่องมือนโยบายเหลือพอใช้หรือไม่?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เมื่อเศรษฐกิจโลกขาลงกำลังมา เครื่องมือนโยบายเหลือพอใช้หรือไม่?

Date Time: 30 ก.ย. 2562 05:01 น.

Summary

  • ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) เพิ่งออกมาแถลงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินชุดใหญ่เมื่อกลางเดือน ก.ย.เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งให้เงินเฟ้อเข้าเป้า แถมยังระบุชัดถึงความสำคัญของบทบาทนโยบาย

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) เพิ่งออกมาแถลงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินชุดใหญ่เมื่อกลางเดือน ก.ย.เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งให้เงินเฟ้อเข้าเป้า แถมยังระบุชัดถึงความสำคัญของบทบาทนโยบาย ปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ และบทบาทนโยบายการคลัง ที่ควรช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแรง

จึงน่าคิดว่าการที่ธนาคารกลางสื่อสารให้นโยบายอื่นมาช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยในเวลานี้ กำลังบอกว่าลำพังแค่เครื่องมือนโยบายการเงิน อาจมีกำลังไม่มากพอรับมือเศรษฐกิจโลกขาลงหรือไม่ น่าสังเกตว่าธนาคารกลางต่างๆได้ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษลดดอกเบี้ยจนอยู่ในระดับต่ำมากหลังเกิดวิกฤติการเงินโลกปี 2551

โดยธนาคารกลางประเทศหลักลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนใกล้ศูนย์และอัดฉีดปริมาณเงินเข้าระบบด้วยการซื้อตราสารทางการเงินของสถาบันการเงิน (quantitative easing : QE) บางธนาคารกลาง ลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายลงต่ำกว่า 0% และเก็บค่าธรรมเนียมเงินสำรองส่วนเกินที่ธนาคารมาฝากไว้เพื่อเร่งให้ใช้ปล่อยสินเชื่อสู่เศรษฐกิจแทน

เมื่อเศรษฐกิจหลายประเทศเข้มแข็งขึ้น ธนาคารกลางได้ทยอยลดการผ่อนคลายทางการเงินลง แต่มีเพียงธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายให้กลับไปใกล้ระดับปกติได้ จึงได้กระสุนของเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยกลับคืนมาตุนไว้ เมื่อเร็วๆนี้ก็ได้ปรับลดดอกเบี้ยไปเป็นระยะเพื่อป้องกันผลกระทบจากเศรษฐกิจขาลง ขณะที่ธนาคารกลางหลายแห่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายไปได้ไม่ทันไรก็ต้องปรับลดดอกเบี้ยลงในปีนี้ แต่ก็มีบางแห่งที่เตรียมจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่สุดท้ายก็ไม่ทันได้เริ่มตัวอย่างเช่น ECB

ECB เพิ่งประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย บัญชีเงินสำรองส่วนเกินที่ธนาคารมาฝากไว้ลงอีก 0.1% จากเดิม-0.4% เป็น-0.5% และอัดฉีด QE เพิ่มขึ้น อีกเดือนละ 2 หมื่นล้านยูโร บรรดานักวิเคราะห์เริ่มตั้งคำถามว่ามาตรการอัตราดอกเบี้ยติดลบและ QE ที่ใช้มานานเช่นนี้จะทำเพิ่มได้อีกแค่ไหนและได้นานเพียงใด แม้หลายงานศึกษาพบว่า 2 มาตรการนี้มีผลดีในระยะสั้นที่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้นและช่วยให้การคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนปรับดีขึ้น แต่ก็กล่าวถึงผลข้างเคียงในระยะยาวว่าควรจับตาดูเพราะอาจลดทอนผลบวกได้

การใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษมานานนับสิบปีอาจส่งผลข้างเคียงทางลบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวจากการบิดเบือนตลาด ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมของผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจ เปลี่ยนไปถาวร เช่นครัวเรือนขาดแรงจูงใจในการฝากเงินโดยเฉพาะประเทศที่ธนาคารส่งผ่านภาระต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบมายังผู้ฝากเงินบางกลุ่ม ภาคธนาคารที่ถูกเก็บค่าฝากเงินสำรองส่วนเกินไว้ที่ธนาคารกลาง ก็พยายามปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อการอยู่รอด พันธบัตรในตลาดการเงินให้ผลตอบแทนต่ำลงจนติดลบยาวนานขึ้น ภาคส่วนต่างๆ แสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นและเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น

ประเทศไทยยังพอมีกระสุนของเครื่องมือนโยบายเหลืออยู่แต่ไม่มากเท่าในอดีต ด้านนโยบายการเงินขณะนี้อัตราดอกเบี้ย นโยบายอยู่ที่ 1.50% แม้ยังไม่ใกล้ศูนย์ แต่ก็ต่ำกว่าในช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2551 ที่ 3.75% ก่อนทยอยลดเหลือ 1.25% ในปีต่อมาด้านนโยบายการคลัง หนี้สาธารณะต่อ GDP ขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 41 แม้ยังห่างจากเพดานหนี้ 60% อยู่มากแต่ภาระการคลังจากรายจ่ายสุขภาพในภาวะสังคมผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นมากยังรออยู่ในวันข้างหน้า

การใช้กระสุนที่เหลือของเครื่องมือนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่รับลูกกันได้จังหวะเพื่อรับมือเศรษฐกิจโลกขาลงที่กำลังมากระทบไทย จึงเป็นเรื่องไม่ไกลตัวที่น่าจับตา.

**บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ