จี้อัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจด่วน! เชื่อมั่นธุรกิจทรุดปัจจัยลบท่วม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จี้อัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจด่วน! เชื่อมั่นธุรกิจทรุดปัจจัยลบท่วม

Date Time: 23 ส.ค. 2562 08:45 น.

Summary

  • ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.ทรุดหนักต่ำสุด 7 ปี ขณะที่ดัชนีเอสเอ็มอีทรุดต่อเนื่อง เอกชนกังวลสารพัดปัจจัยลบ สงครามการค้า–ยันการเมืองไม่แน่นอน

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย



ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.ทรุดหนักต่ำสุด 7 ปี ขณะที่ดัชนีเอสเอ็มอีทรุดต่อเนื่อง เอกชนกังวลสารพัดปัจจัยลบ สงครามการค้า–ยันการเมืองไม่แน่นอน หวังรัฐเร่งใช้เงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเร็วที่สุด เพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนใช้จ่ายในระบบ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน ก.ค.อยู่ที่ระดับ 93.5 ลดลงจากเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ระดับ 94.5 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนของปีนี้ เนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวจากผลสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนที่ยังคงยืดเยื้อ สะท้อนมายังยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อกำลังซื้อ และการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา โดยเฉพาะเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะทำให้เงินส่งถึงมือประชาชนโดยตรง ซึ่งภาคเอกชนก็หวังว่าคนจะมีกำลังซื้อและนำเงินไปใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น เกิดการหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้หลายๆ รอบ อย่างไรก็ตาม เกรงว่าจะมีประชาชนส่วนหนึ่งจะนำไปใช้หนี้สิน ซึ่งจะไม่เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบ โดย ส.อ.ท.คาดว่ามาตรการของรัฐจะมีส่วนช่วยกระตุ้นอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ได้อีก 0.5-0.6% และคาดว่าจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจระยะสั้นๆช่วง 3-4 เดือนนับจากนี้ ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ทั้งปีจะโตได้ 3% ตามที่คาดไว้”

สำหรับดัชนีอุตสาหกรรม คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 102.3 เพิ่มขึ้นจาก 101.3 ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกรอบหนึ่งเพื่อทำให้เกิดการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2562 ประกอบกับจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ 2563

“ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งมาตรการกีดกันการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทย ขณะที่ค่าเงินบาทเฉลี่ยเดือน ก.ค.ยังแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ 30.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากค่าเฉลี่ยในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 31.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศเพิ่มขึ้น จากความไม่แน่นอนทางการเมือง แม้ว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังไม่เอื้อต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีต้องการให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงิน”

วันเดียวกันนายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจภาคธุรกิจ ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจไตรมาส 2 ปีนี้อยู่ที่ 42.7 ปรับตัวลด 1.0 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจอยู่ที่ระดับ 48.8 ปรับตัวลดลง 1.1 จุด และดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 51.8 ปรับตัวลดลง 0.7 จุด ส่งผลให้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี ไตรมาส2 อยู่ที่ระดับ 47.8 ปรับตัวลดลง 0.9 จุด และคาดว่าในไตรมาสที่ 3 จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.9 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีเอสเอ็มอีลดลง คือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้ยอดขายสินค้าลดลงต่อเนื่อง กำไรหด ซึ่งส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงตามไปด้วย

“ผลสำรวจนี้ทำก่อนรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกเพิ่ม เพราะจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 และ 4 ไม่ต่ำกว่า 183,401 ล้านบาท และหากใช้เม็ดเงินได้อย่างเต็มที่จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 3.0-3.5% เพียงแต่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ชุมชนและคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการให้รัฐช่วยเหลือ คือ การส่งเสริมอาชีพ การสร้างความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจ กระตุ้นเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว การปรับโครงสร้างหนี้ และซื้อสินค้าในท้องถิ่น”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ