การเดินทางของ คณะผู้บริหารชุดใหญ่ ปตท. มาเยือนกลุ่มประเทศนอร์ดิก ฟินแลนด์ และ เดนมาร์ก เที่ยวนี้ นำโดย ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ประธานบอร์ด ปตท. ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTEP อธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TOP นพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่และกรรมการผู้จัดการใหญ่ GC ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC
จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTOR และ อัญชลี หวังวีระมิตร ผช.กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม ครบทีม
ทั้งนี้ นพพร อัจฉริยวนิช เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ได้บรรยายให้เห็นถึงข้อมูลที่สำคัญอันจะเป็นประโยชน์ในการนำมาพัฒนาประเทศและสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืน
ประเทศฟินแลนด์ เป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับให้ประชากรมีความสุขในอันดับต้นๆ มีชื่อเสียงที่ติดลำดับด้านการศึกษา ด้านไอทีและธุรกิจสตาร์ตอัพ จนกลายเป็นแบรนด์ของประเทศไปแล้ว
ในขณะที่ประเทศอื่นในอาณาบริเวณนั้น อาทิ เอสโตเนีย ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีระบบเทคโนโลยี Ai ที่มีประสิทธิภาพและความทันสมัยมากที่สุด โดยเฉพาะการนำมาใช้กับระบบราชการ ไม่ใช่แค่ One Stop Service เท่านั้นแต่หมายถึงการเข้าถึงของประชาชนที่สามารถจัดการสถานะส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน การเข้ารับการรักษาพยาบาล การเข้าศึกษาในระดับต่างๆด้วยตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชัน หรือ ออนไลน์ที่ทางราชการกำหนดไว้ได้ทันที
เกี่ยวกับด้านพลังงานต้องถือ ว่าพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน ในภูมิภาคนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุด นำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่สะอาดบริสุทธิ์ และมีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
อย่างไรก็ตาม พลังงานที่นำมาผลิตไฟฟ้าของฟินแลนด์ ส่วนใหญ่จะเป็น พลังงานนิวเคลียร์ และ โรงไฟฟ้าถ่านหิน อยู่ฟินแลนด์มี โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน อยู่ 2 แห่ง อยู่ที่เมืองหลวง เฮลซิงกิ ตั้งแต่มีการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินมาจนถึงปัจจุบันไม่มีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าถ่านหิน จะมีการยุติการใช้งานในปี 2029 โดยรัฐบาลจะหันมาสนับสนุน โรงไฟฟ้าที่ผลิตโดยพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนมากขึ้น
พลังงานทดแทน ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะใช้เศษไม้เป็นวัตถุดิบ รองลงมาเป็นพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์ แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายการใช้พลังงานต่างๆอย่างรู้คุณค่า จึงไม่มีการอุดหนุนเรื่องของราคาน้ำมันหรือราคาก๊าซ แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ทำให้ราคาน้ำมันราคาก๊าซมีราคาแพง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าจะแพงมาก โดยทางรัฐบาลได้แบ่งเป็นราคาไฟฟ้าเพื่อใช้ในการบริโภค ในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตในอัตราที่แตกต่างกัน
ข้อสรุปของการใช้พลังงานในอนาคตจากประเทศที่มีความสุขที่สุดในระดับต้นๆ ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด การศึกษาดีที่สุด คือการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th