“มรกตโคลัมเบีย” ราคา 401 บาท แนะดูร้านค้าท่ีติดสติ๊กเกอร์ BWC
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (จีไอที) เปิดเผยว่า สถาบันฯได้พบว่า การซื้อขายอัญมณีในท้องตลาด โดยเฉพาะในตลาดออนไลน์มีการลงโฆษณาจำนวนมาก ทั้งการขายผ่านโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ต่างๆ สินค้าที่จำหน่าย มีทั้งอัญมณีแท้, อัญมณีเลียนแบบ, อัญมณีปรับปรุงคุณภาพ โดยมีการลงข้อความเชิญชวนที่น่าสนใจ กระตุ้นให้ผู้ที่ชื่นชอบตัดสินใจซื้อ เพราะมีราคาที่จับต้องได้
“เมื่อไม่นานมานี้ ได้พบการจำหน่ายอัญมณีผ่านแพลตฟอร์มชื่อดัง มีการโฆษณาเกินจริง โดยจำหน่ายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าปกติ หรือต่ำกว่าท้องตลาดมาก เช่น มรกตจากโคลอมเบีย ซึ่งขึ้นชื่อว่าคุณภาพดีที่สุดได้เสนอขาย 7.95-10.95 กะรัต ราคา 379.20-401.98 บาท แต่ราคาจริงสูงนับล้านบาท หรือไพลิน เสนอขาย 6-20 กะรัต ราคา 614.32 บาท จากราคาจริงกะรัตละกว่าหมื่นบาท อีกทั้งยังฟรีค่าขนส่ง”
สำหรับราคาจำหน่ายอัญมณีแท้ เช่น เพชรธรรมชาติ คุณภาพปานกลาง กะรัตละ 150,000 บาทขึ้นไป ส่วนเพชรเลียนแบบ เช่น คิวบิกเซอร์โคเนีย กะรัตละไม่ต่ำกว่า 100 บาท ทับทิมธรรมชาติคุณภาพปานกลางกะรัตละ 20,000-30,000 บาท ขณะที่ทับทิมสังเคราะห์ราคากะรัตละไม่กี่สิบบาท และไพลินธรรมชาติ คุณภาพปานกลางขนาด กะรัตละ 10,000 บาท ส่วนไพลินสังเคราะห์กะรัตละไม่กี่สิบบาท และแม้หลายเว็บไซต์ มีนโยบายคืนสินค้า หากผู้บริโภคไม่ถูกใจ แต่หลายเว็บไซต์ที่จำหน่ายในราคาถูก จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากเว็บไซต์ปกติ เช่น เวลาคืนสินค้า ไม่ได้คืนเป็นเงินสด แต่คืนในรูปเครดิต หรือให้คนซื้อไปซื้อของชิ้นอื่นแทน
ดังนั้น ในการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันฯมีข้อแนะนำผู้บริโภคต้องพิจารณารายละเอียดสินค้า ควบคู่กับรายละเอียดใบรับรองคุณภาพสินค้า ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดต่างๆให้ตรงตามภาพสินค้าที่จำหน่าย หารายละเอียด อ่านความเห็นของผู้ซื้อรายก่อนหน้า อันดับเรตติ้งของผู้ขาย ศึกษาราคาของอัญมณีในท้องตลาดก่อนเลือกซื้อ ล่าสุดสถาบันฯได้จัดทำโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ Buy With Confidence (BWC) ผ่านใบรับรองคุณภาพจากสถาบันฯ เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค เพียงมองหาสติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ BWC ที่ติดอยู่หน้าร้านค้าหรือเว็บไซต์ของร้านค้า.