สารพัดปัจจัยฉุดส่งออกอัญมณีติดลบ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สารพัดปัจจัยฉุดส่งออกอัญมณีติดลบ

Date Time: 2 ก.ค. 2562 08:45 น.

Summary

  • นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยสถิติการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทย 5 เดือนแรกของปีนี้

Latest

เงินบาท อ่อนค่าหนักรอบ 3 เดือน ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง จับตาเงินเฟ้อพุ่ง กดดันเฟดลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยสถิติการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทย 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ว่า มีมูลค่า 4,605 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 9.98% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 145,264 ล้านบาท ลดลง 9.70% หากหักการส่งออกทองคำที่มีความผันผวนของราคาออก จะมีมูลค่าส่งออก 3,043 ล้านเหรียญฯ ลดลง 2.84% คิดเป็นเงินบาท 96,000 ล้านบาท ลดลง 2.51%

“ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกลดลงมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจ รวมทั้งการค้าโลกชะลอตัว อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก ทำให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และยังมีความไม่แน่นอนจากกรณีเบร็กซิต ที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ที่กระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนของภาคเอกชน เป็นต้น”

ทั้งนี้ การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยกลับมาเป็นบวก 0.77% ถือเป็นทิศทางที่ดี โดยพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเพชรเจียระไน มีการส่งออกสูงขึ้น ขณะที่ตลาดจีนยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 8.80% จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกเครื่องประดับเงินเป็นหลัก ส่วนที่อินเดียน่าจับตามากเพิ่มขึ้นถึง 50.37% จากการส่งออกโลหะเงิน พลอยก้อน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตลาดอาเซียนก็เพิ่มขึ้น 19.86% จากการส่งออกเครื่องประดับเทียมไปยังสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นมาก และตะวันออกกลาง เพิ่ม 0.45% จากเดือนก่อนลด 4.98% นับเป็นสัญญาณที่ดีเช่นเดียวกัน

“ตลาดที่ยังขยายตัวติดลบ เช่น ฮ่องกง ตลาดอันดับหนึ่งของไทย ยังคงติดลบ 10.56% สหภาพยุโรป ลบ 7.13% ญี่ปุ่น ลบ 11.70% ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลบ 26.35% รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (ซีไอเอส) ลบ 77.81%”

ล่าสุดสงครามการค้ามีแนวโน้มดีขึ้น หลังผู้นำสหรัฐฯและจีน ตกลงที่จะร่วมกันหาทางออก หากมีความชัดเจนจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้าโลก และการส่งออกในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับที่จะดีขึ้นตามไปด้วย แต่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกก็ต้องปรับตัวผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการที่เปลี่ยนไป โดยการเจาะตลาดไปยังลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มมิลเลนเนียล (กลุ่มเจนวาย), กลุ่มลูกค้าที่ต้องการทราบที่มาของวัตถุดิบ และเจาะตลาดออนไลน์ที่กำลังเติบโตเพิ่มมากขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ