คุมเข้มเก็บภาษี "เบียร์" สกัดรั่วไหล

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คุมเข้มเก็บภาษี "เบียร์" สกัดรั่วไหล

Date Time: 2 ก.ค. 2562 07:30 น.

Summary

  • นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมเตรียมปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีสินค้าเบียร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้ดียิ่งขึ้น โดยจะนำระบบการจัดเก็บแบบอิเล็กทรอนิกส์

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมเตรียมปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีสินค้าเบียร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้ดียิ่งขึ้น โดยจะนำระบบการจัดเก็บแบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-แสตมป์) มาใช้แทนวิธีการจัดเก็บแบบนับปริมาณเมื่อออกจากโรงงานผลิตที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะทำให้เกิดการรั่วไหลของภาษี และยอดขายของผู้ผลิต โดยอี-แสตมป์ ลักษณะจะเหมือนคิวอาร์โค้ด ติดที่ภาชนะบรรจุในขั้นตอนการผลิต ก่อนนำเบียร์ส่งออกและขายในตลาด ทำให้กรมทราบว่าเป็นเบียร์ของผู้ผลิตรายใด ผลิตเมื่อไร ชำระภาษีเมื่อไร ช่วยป้องกันการรั่วไหลของภาษี และยอดขายของผู้ผลิตได้เป็นอย่างดี คาดว่าจะเริ่มใช้ได้เดือน ต.ค.นี้เป็นต้นไป

สาเหตุที่ต้องใช้อี-แสตมป์ เพราะช่วงต้นของปีงบ 62 การจัดเก็บภาษีเบียร์ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 10,000 ล้านบาท จึงสั่งการให้เข้มงวดจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น และกรมยังได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกฎกระทรวงการคลังเรื่องการจัดเก็บภาษีเบียร์ผ่านระบบอี-แสตมป์ และผ่านความเห็นชอบแล้วเมื่อเดือน พ.ค.62 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา “ได้หารือกับผู้ประกอบการเรื่องอี-แสตมป์แล้ว ทุกรายไม่มีปัญหา เพราะเป็นผลดี ทำให้สามารถตรวจสอบการผลิตของโรงงานตัวเองได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่รายหนึ่งถูกลูกน้องโกง แอบเอาเบียร์หนีภาษีไปขาย คาดว่าจะเริ่มใช้อี-แสตมป์ได้ประมาณเดือน ต.ค.นี้”

นอกจากนี้ กรมยังเข้มงวดการตรวจปล่อยเบียร์ส่งออกมากขึ้น เพราะมีสัดส่วนมากถึง 13% ของการผลิตทั้งหมด โดยสั่งการให้ผู้ผลิตต้องตรวจสอบการผลิตเบียร์ตั้งแต่ต้นทาง คือ โรงงานผลิต และปลายทาง คือ จุดหมายที่เบียร์จะไปถึง และต้องรายงานให้กรมทราบ เพื่อจะได้รู้ว่าเบียร์ที่ออกจากโรงงานกับเบียร์ที่ผลิตมีจำนวนตรงกันหรือไม่ จากเดิมกรมจะตรวจเฉพาะหน้าโรงงาน และผู้ผลิตต้องระบุข้างกล่องว่าเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการส่งออก (Export Only) แต่ในความเป็นจริง กลับมีการนำเบียร์ส่งออกมาลักลอบขายในประเทศ ส่งผลให้กรมจัดเก็บภาษีได้ลดลง ทั้งนี้ จากการเข้มงวดจัดเก็บภาษีในกลุ่มสินค้าเบียร์ ทำให้กรมเก็บภาษีเบียร์เพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 1,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 62 จัดเก็บภาษีเบียร์ได้ 6,700 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,060 ล้านบาท แต่ต่ำกว่าเป้าหมาย 3,000 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ