การเมืองง่อนแง่น ฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ร่วง ห่วงค่าครองชีพแพงลิ่ว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

การเมืองง่อนแง่น ฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ร่วง ห่วงค่าครองชีพแพงลิ่ว

Date Time: 20 มิ.ย. 2562 15:17 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • การเมืองง่อนแง่น ฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ร่วง เพิ่มความกังวลค่าครองชีพสูงลิ่ว ด้านภาคธุรกิจจี้เร่งแก้ปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ ทุกภูมิภาคตกในสภาพเดียวกับปวดหัวจัดตั้งรัฐบาล

การเมืองง่อนแง่น ฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ร่วง เพิ่มความกังวลค่าครองชีพสูงลิ่ว ด้านภาคธุรกิจจี้เร่งแก้ปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ ทุกภูมิภาคตกในสภาพเดียวกับปวดหัวจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน พ.ค.62 จากการสำรวจความคิดเห็นของประธานหอการค้า และกรรมการหอการค้าของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ รวม 370 ตัวอย่าง ว่า อยู่ที่ระดับ 47.4 ปรับตัวลดลงจากเดือนเม.ย.62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 47.8 จากปัจจัยลบ กรณีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2562 ขยายตัว 2.8% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 3.6% จากการส่งออกลดลง และปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน, ความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาล และสถานการณ์ทางการเมืองมีความไม่แน่นอน และขาดเสถียรภาพ ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย, ความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพและราคาสินค้า-บริการทรงตัวอยู่ในระดับสูง และรายได้ไม่สมดุลกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

ขณะที่ปัจจัยด้านบวก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับ 31.860 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน เม.ย.62 เป็น 31.796 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนพ.ค.62 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามา, ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้น จากการจัดงานเทศกาลวันหยุดต่างๆ, ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรขยายตัวจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนี้ 1. แก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคม 2. กระตุ้นการลงทุนของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และกระจายความเจริญสู่ชุมชนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลเขตเมือง 3. เร่งผลักดันระบบขนส่งคมนาคมของประเทศให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต 4. ขยายตลาดการส่งออกสินค้าเกษตรในประเทศใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ 5. ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวตามชุมชน สินค้า OTOP ที่เป็นของชุมชนให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะในเมืองรอง

ด้าน นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยแยกเป็นรายภาค เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 48.9 ลดลงจาก 49.5 ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 47.3 ลดลงจาก 47.9 ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 51.9 ลดลงจาก 52.7 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 47.1 ลดลงจากระดับ 47.5 ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 47.8 ลดลงจากระดับ 48.3 และภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 44.7 ลดลงจากระดับ 45.4 ซึ่งส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ