"สรรพากร" เร่งศึกษาข้อดี-ข้อเสีย นโยบายภาษีรัฐบาลชุดใหม่ ชี้หากลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% ต้องยกเลิกค่าลดหย่อนภาษีบางรายการ หวั่นกระทบเสถียรภาพการคลัง-รายได้หด
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวหลังจัดประชุมสัมมนาผู้บริหารกรมสรรพากร ทั่วราชอาณาจักร ว่า ขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ในระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายภาษีของรัฐบาลชุดใหม่ว่ามีข้อดีและข้อเสีย รวมถึงผลกระทบที่จะตามมาหากดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้
ทั้งนี้ สำหรับนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่เสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10% นั้น หากจะมีการลดภาษีจริง อาจต้องมีการพิจารณา เสนอแนวทางลดหรือเลิกรายการลดหย่อนภาษีบางรายการลง จากปัจจุบันกรมสรรพากรให้สามารถนำรายจ่ายบางประเภทมาหักลดหย่อนภาษีได้ อาทิ ค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ และค่าลดหย่อนเฉพาะกิจ เช่น โครงการช้อปช่วยชาติ ที่ให้สามารถนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น
"การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นมาตรการที่ช่วยประชาชนก็จริง แต่จะกระทบกับรายได้ของกรมสรรพากรที่จะหายไปด้วย ซึ่งอาจกระทบถึงเสถียรภาพการคลัง ดังนั้นสิ่งที่กรมสรรพากรต้องทำ คือหาว่ามาตรการเหล่านี้จะกระทบรายได้จำนวนเท่าใด และต้องนำมาตรการอะไรมาชดเชย เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลัง"
ส่วนเรื่องอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 7% และขณะนี้ทางกรมสรรพากรยังไม่มีแนวคิดจะปรับเพิ่มหรือลดแวต เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งการปรับเพิ่มแวตหรือลดแวตนั้น จะมีผลกระทบตามมาอีกมาก เพราะปัจจุบันรายได้จากแวต ถือเป็นรายได้อันดับหนึ่งของกรมสรรพากร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40% ของรายได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการลดแวต เพียงแค่ 1% จะกระทบการจัดเก็บกับรายได้ของกรมสรรพากรประมาณ 70,000 ล้านบาท
สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.2561 - พ.ค 2562) กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีสรรพากรได้จำนวน 1.22 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณถึง 38,015 ล้านบาท โดยกรมสรรพากร มั่นใจว่าทั้งปีจะเก็บภาษีได้ตามเป้า 2 ล้านล้านแน่นอน แม้จะประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และสงครามการค้าสหรัฐอเมริกาและจีน ส่วนปี 2563 กรมสรรพากรตั้งเป้าจัดเก็บภาษีที่ 2.1 ล้านล้านบาท.