เกมเดิมพัน "คิงออฟดิวตี้ฟรี"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เกมเดิมพัน "คิงออฟดิวตี้ฟรี"

Date Time: 11 มิ.ย. 2562 05:01 น.

Summary

  • จากที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้เปิดขายซองให้เอกชนที่สนใจเพื่อเข้ามาดำเนินการในโครงการร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

จากที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้เปิดขายซองให้เอกชนที่สนใจเพื่อเข้ามาดำเนินการในโครงการร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี เพื่อแทนเอกชนรายเดิม “บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด” ที่สัญญาสัมปทานจะหมดอายุลงในวันที่ 27 ก.ย.2563 นั้น

ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับจากเอกชนทั้งผู้ประกอบการค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า เจ้าของสายการบินในไทย รวมถึงผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีระดับยักษ์ใหญ่ของโลก ทั้งจากประเทศอังกฤษ เกาหลี สิงคโปร์ แสดงความสนใจที่จะเข้ามาจับจองพื้นที่ทำเลทอง ขอร่วมแบ่งเค้กก้อนใหญ่ในสนามบินสุวรรณภูมิกันอย่างท่วมท้น ก่อนที่ ทอท.จะเปิดประกาศขายซองอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ

โดยสำหรับ “โครงการจำหน่ายร้านค้าดิวตี้ฟรี” มีเอกชนเข้ามาซื้อซองจำนวน 5 ราย แต่ปรากฏมีเหลือเข้ามายื่นซองคุณสมบัติทางเทคนิคเพียง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด, บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งร่วมกับบริษัท โฮเต็ล ล็อตเต้ จำกัด ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรียักษ์ใหญ่จากเกาหลี และบริษัท รอยัล ออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่จับกลุ่มกับดิวตี้ฟรีชั้นนำจากประเทศอังกฤษ

ขณะที่กลุ่มบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ซึ่งจับกลุ่มกับบริษัท ดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ จำกัด ซึ่งเป็นดิวตี้ฟรีชั้นนำจากประเทศสิงคโปร์ และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็น 2 รายที่ไม่ได้มายื่นซองเทคนิค ทำเอาหลายฝ่ายถึงกับงง! ว่าทำไมเซ็นทรัลชิงถอดใจง่ายๆ ท่ามกลางกระแสข่าวที่มีความเป็นไปได้ว่า เหตุที่กลุ่มเซ็นทรัลยอมทิ้งงานนี้ เพราะมีเป้าหมายหลักที่จะลงทุนเอาต์เลตขนาดใหญ่ขายสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำแถวๆสนามบินสุวรรณภูมิแทน ส่วนไมเนอร์นั้น แทบไม่ต้องพูดถึง เมื่อไม่มีการจับกลุ่มพันธมิตรที่มีประสบการณ์ โอกาสที่จะเข้ามาลุยไฟก็ริบหรี่เป็นศูนย์...

ส่วนการประมูลใน “โครงการพื้นที่เชิงพาณิชย์” สนามบินสุวรรณภูมินั้น พบว่าจากที่มีเอกชนสนใจซื้อซองไป 4 ราย แต่เมื่อถึงวันที่ต้องยื่นซองคุณสมบัติทางเทคนิค มีมายื่น 3 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด 3.บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ไม่ได้มายื่นซอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาคุณสมบัติผู้ที่มายื่นซองเทคนิคแล้วพบว่า บริษัทไมเนอร์ ตกคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ ทำให้ไม่สามารถไปต่อได้ในรอบเปิดซองราคา เนื่องจากในเงื่อนไขประกวดราคา (ทีโออาร์) ข้อ 3.5 ระบุว่าผู้ที่ ซื้อซองและยื่นซองคุณสมบัติ จะต้องนำเสนอผลงานประสบการณ์ของบริษัทที่ซื้อซอง แต่ปรากฏว่าไมเนอร์กลับยื่นผลงานประสบการณ์ของบริษัทลูกคือ บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัดแทน

โดยหลังผ่านคุณสมบัติทางเทคนิค ผู้เข้ารอบจะต้องนำเสนอผลงาน แผนการตลาด และความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งขั้นตอนนี้ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนชี้ขาด วัดความเป็น-ความตาย ของผู้เข้าประมูล หากรายใดแสดงให้เห็นถึงความเก๋าเกม! มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจและบริหารพื้นที่ ก็จะได้เปรียบในการนำเสนอข้อมูลทั้งทางเทคนิคและราคา

โดยการตัดสินใจรอบนี้ นอกจากพิจารณาคุณสมบัติทางเทคนิคแล้ว...คุณสมบัติด้านราคา ผลตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee), ส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) ที่จะให้กับ ทอท.ก็เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวด และไม่ใช่การเสนอผลตอบแทนสูงสุดเพียงสถานเดียว แต่ผลตอบแทนนั้นต้องสอดคล้องกับแผนธุรกิจที่นำเสนอด้วย โดยแม้ ทอท.จะกำหนดการพิจารณาด้านนี้ด้วยคะแนนเพียง 20% เท่านั้น แต่ในทางธุรกิจคณะกรรมการคัดเลือกย่อมต้องรักษาผลประโยชน์และรายรับขององค์กรที่จะได้เป็นหลัก เพราะ ทอท.แม้เป็น “รัฐวิสาหกิจ” แต่เป็น “รัฐพาณิชย์”... ที่มีเป้าหมายคือแสวงหารายได้และกำไรสูงสุด

จนในที่สุดเมื่อถึงวันตัดเชือกที่ 31 พ.ค.2562 ซึ่งเป็นวันเปิดซองราคา ก็เป็นไปตามคาดเมื่อ “บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด” ชนะ คะแนนรวมสูงสุดทั้ง 2 ประเภท ทำให้คิง เพาเวอร์ได้ครองพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิแบบเบ็ดเสร็จอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตามขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกจะต้องเสนอชื่อ คิง เพาเวอร์ ให้คณะกรรมการพิจารณารายได้ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ก่อนที่จะเสนอเข้าบอร์ด ทอท. ในวันที่ 19 มิ.ย. ตามลำดับ

ส่วนการประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินภูมิภาค (เชียงใหม่, หาดใหญ่, ภูเก็ต) จะมีการเปิดซองราคากันในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ เป็นการแข่งขันกันระหว่าง 3 ราย ได้แก่ คิง เพาเวอร์, กลุ่มบางกอกแอร์เวย์ส และรอยัล ออคิด เชอราตัน โดยบอร์ด ทอท.จะพิจารณารายชื่อผู้ชนะในวันที่ 19 มิ.ย. เช่นเดียวกับผลการประมูลดิวตี้ฟรี พื้นที่เชิงพาณิชย์ของสนามบินสุวรรณภูมิ

หากที่สุดแล้วคิง เพาเวอร์ สามารถกวาดพื้นที่ในสนามบินภูมิภาค ไปได้อีก จะถือเป็นการประกาศชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จ เพราะเกมในครั้งนี้เป็นเกมที่มีเดิมพันสูงมากของ “คิง เพาเวอร์” หลังจากสูญเสีย “วิชัย ศรีวัฒนประภา” ไป

ความสำเร็จดังกล่าว คงจะช่วยให้ อัยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคิง เพาเวอร์คนใหม่ ทายาทของวิชัย ซึ่งต้องขึ้นมารับช่วงธุรกิจแทนหลังอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด หายใจคล่องขึ้น เพราะสามารถรักษาพื้นที่ทำกินของอาณาจักร “คิง เพาเวอร์” ซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 26 ปี (2536-2562) ไว้ได้สำเร็จ ส่วนเป้าหมายต่อไป ที่ต้องการปลุกปั้นคิงเพาเวอร์ให้ติด 1 ใน 5 ดิวตี้ฟรีระดับโลกนั้น ก็น่าจะไม่ไกลเกินเอื้อม.


สุรางค์ อยู่แย้ม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ