พาณิชย์คุมเข้ม รพ.เอกชน โขกค่ายาราคาแพง ให้แจ้งต้นทุนที่ซื้อ พร้อมราคาจำหน่าย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

พาณิชย์คุมเข้ม รพ.เอกชน โขกค่ายาราคาแพง ให้แจ้งต้นทุนที่ซื้อ พร้อมราคาจำหน่าย

Date Time: 31 พ.ค. 2562 05:35 น.

Summary

  • กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศ กกร. กำหนดให้แจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการ ทางการแพทย์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 พ.ค.62 ยัน โรงพยาบาลเอกชนต้องแจ้งราคาซื้อขาย การเปลี่ยนแปลงราคา ขีดเส้นภายใน 45 วัน

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศ กกร. กำหนดให้แจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการ ทางการแพทย์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 พ.ค.62 ยัน โรงพยาบาลเอกชนต้องแจ้งราคาซื้อขาย การเปลี่ยนแปลงราคา ขีดเส้นภายใน 45 วัน ชี้จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดราคายาสุดโหด มีส่วนต่างราคาต้นทุนและราคาขาย ฟันกำไรเพียบ ส่วนใบสั่งยากำหนดให้แจ้งชื่อยา วิธีใช้ ราคาต่อหน่วย เพื่อให้นำไปซื้อข้างนอกได้ พร้อมให้ ตั้งคณะอนุกรรมการดูแลการรักษาเกินจริงทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด

กระทรวงพาณิชย์เอาจริงแล้วกับโรงพยาบาลเอกชนที่ฟันราคายาสุดโหด เมื่อวันที่ 30 พ.ค. นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ลงนามในประกาศ กกร.ฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของสถานพยาบาลแล้วเมื่อวันที่ 29 พ.ค. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.เป็นต้นไป มั่นใจว่ามาตรการนี้จะช่วยดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมจากการเข้าไปใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชน

นายวิชัยกล่าวด้วยว่า ประกาศ กกร. ดังกล่าว กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อ-ราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการ ตามรายการที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP) เบื้องต้นอยู่ที่ 3,892 รายการ ในอนาคตจะขยายผลให้ครอบคลุมรายการยาตามรหัสบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย (TMT) โดยบัญชียามี 32,000 รายการ บัญชีเวชภัณฑ์ 868 รายการ ค่าบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้โรงพยาบาลที่มีการเปลี่ยนแปลงราคายา ต้องแจ้งให้กรมฯทราบก่อนปรับราคาภายใน 15 วัน หากไม่แจ้งราคาซื้อ-ราคาจำหน่ายตามที่ประกาศกำหนดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะแจ้ง

“กรมฯ ส่งประกาศดังกล่าวไปให้โรงพยาบาลเอกชนทั้ง 353 แห่งแล้ว ให้ระยะเวลาในการแจ้งราคาซื้อขายภายใน 45 วัน ใครไม่แจ้งจะมีโทษตามที่กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กำหนด หลังจากได้ข้อมูลมาครบแล้ว กรมฯจะนำขึ้นเว็บไซต์กรมฯ โรงพยาบาลเอกชนต้องแสดง QR Code เปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวก รวมทั้งจะเชิญโรงพยาบาลที่คิดราคาแพงเกินจริง หรือคิดกำไรเกินจริงมาสอบถามเหตุผล” นายวิชัยกล่าว

อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์โครงสร้างราคายา จากข้อมูลราคาซื้อขาย และราคานำเข้า ที่กรมฯ ขอไปยังโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 353 ราย พบว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายตั้งแต่ 29.33%-8,766.79% หรือมีส่วนต่างราคาตั้งแต่ 10.83-28,862 บาท และมีกำไรตั้งแต่ 47.73- 16,566.67% ขณะเดียวกัน ยังพบว่ายาชนิดเดียวกัน โรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งคิดราคาขายต่างกันมาก ยา XANDASE (allopuirnol 100 มิลลิกรัม) ขายตั้งแต่เม็ดละ 3-20 บาท โดยมีราคากลางที่ 6 บาท ยา AMPHOTERICIN-B (amphotericin b 50 มก.) ขวดละ 452-2,200 บาท ราคากลางอยู่ที่ 937 บาท ยา S_DOPROCT (10 กรัม) หลอดละ 17-303 บาท ราคากลาง 148 บาท เป็นต้น

นายวิชัยกล่าวว่า ภายใต้ประกาศ กกร.ยังได้กำหนดเรื่องใบสั่งยา โดยกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนประเมินค่ารักษาเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบและต้องแจ้งราคายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบ ก่อนจำหน่ายหรือให้บริการ เมื่อผู้ป่วยร้องขอ ในการจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ให้โรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบแจ้งราคายา ให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยใบสั่งยาอย่างน้อยต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาดหรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ ใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วน กลางและส่วนจังหวัดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย กรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็น หรือการคิดค่าบริการรักษาพยาบาลสูงเกินสมควร เช่น ปวดท้อง คิดค่ารักษา 30,000 บาท หรือปวดหัว แต่ให้บริการทั้งตรวจตา วัดชีพจร ตรวจลิ้น ทำทีซีสแกน หรือคิดค่าชะโงกจากการนำแพทย์มาให้บริการหลายคน เป็นต้น หากผู้บริโภคเห็นว่ามีการคิดราคาสูงเกินสมควรจริง สามารถร้องเรียน ได้ที่สายด่วนกรมฯ โทร.1569 หากกรมฯตรวจสอบแล้วพบโรงพยาบาลเอกชนผิดจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ