ไตรมาสแรกแผ่ว ภาคธุรกิจแขยงกู้ หันหาตราสารหนี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไตรมาสแรกแผ่ว ภาคธุรกิจแขยงกู้ หันหาตราสารหนี้

Date Time: 22 พ.ค. 2562 08:40 น.

Summary

  • สินเชื่อไตรมาสแรกโตชะลอเหลือ 5.6% จาก 6% ไตรมาสก่อนหน้า ผลมาจากภาคธุรกิจชำระคืนหนี้แล้วหันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้แทน, เอสเอ็มอีวงเงินสูงเร่งคืนหนี้ ทำสินเชื่อเอสเอ็มอีโตแค่ 1.5%

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

สินเชื่อไตรมาสแรกโตชะลอเหลือ 5.6% จาก 6% ไตรมาสก่อนหน้า ผลมาจากภาคธุรกิจชำระคืนหนี้แล้วหันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้แทน, เอสเอ็มอีวงเงินสูงเร่งคืนหนี้ ทำสินเชื่อเอสเอ็มอีโตแค่ 1.5% ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังโตดี โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ จน ธปท.จับตาว่าต้องถอยมาตรการคุมหรือไม่

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลง โดยขยายตัวรวม 5.6% จากอัตราการเติบโต 6% ในไตรมาสก่อนหน้า ผลจากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมและบริการที่หันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มากขึ้น ทำให้คาดว่าทั้งปี 62 สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวได้ 5-6%

ทั้งนี้ สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.4% โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.4% จาก 4.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยขยายในสินเชื่อธุรกิจสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง แต่มีการทยอยชำระคืนหนี้ของธุรกิจบริการ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขยายตัวชะลอลงมาก จากการเติบโต 4.5% ในไตรมาสก่อน ขยายตัวเพียง 1.5% ในไตรมาสนี้ เนื่องจากมีการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ที่ใช้วงเงินสินเชื่อสูงบางรายในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่ม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังขยายตัวดีในทุกประเภทสินเชื่อหลัก สอดคล้องกับการบริโภคที่ขยายตัวดี และเป็นผลจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดสินเชื่อรายย่อย รวมทั้งมีการเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก่อนมาตรการบังคับเพิ่มการวางดาวน์ (LTV) จะมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคโดยรวมขยายตัวสูงถึง 10.1% และเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง

โดยมีสาเหตุหลักๆจาก 3 กรณีคือ 1.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงขยายตัวสูงขึ้นจากการเร่งปล่อยสินเชื่อก่อนมาตรการแอลทีวีมีผลบังคับใช้ 2.สินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ ทั้งนี้ ยอมรับ ว่ากำลังติดตามสินเชื่อรถยนต์ที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้น แต่ยังขอดูแนวโน้มอีกระยะว่าจำเป็นต้องออกมาตรการดูแลเช่นเดียวกับสินเชื่อบ้านหรือไม่ ประกอบกับผู้ปล่อยสินเชื่อรถยนต์ 1 ใน 3 ยังไม่ได้อยู่ในกำกับดูแลของ ธปท. 3.การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งที่มีหลักประกัน อาทิ สินเชื่อบ้านแลกเงินและสินเชื่อรถแลกเงิน และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน

ส่วนสำหรับภาพรวมของคุณภาพหนี้นั้น สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.94% ทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยมียอดคงค้าง 454,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส ก่อน 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ผลจากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ การตัดหนี้สูญ และขายหนี้ออกไป

ด้านสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (เอสเอ็ม) เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 2.42% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 2.56% โดยสินเชื่อที่ต้องจับตาอยู่ในภาคธุรกิจเอสเอ็มอีมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 685,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 15,800 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 195%”

ขณะที่ฐานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2562 ยังมีกำไรสุทธิ 57,100 ล้าน บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของสินเชื่อ รวมทั้งค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะหดตัวต่อเนื่อง และค่าใช้จ่ายพนักงานจะสูงขึ้นจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ก็ตาม

ด้านนายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด กล่าวว่า ในเดือน เม.ย.2562 ภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล มีการเปิดตัวลดลง โดยมีจำนวนโครงการเปิดขายใหม่ ทั้งหมด 27 โครงการ ลดลงจากเดือน มี.ค. มี จำนวนหน่วยขายรวม 4,564 หน่วย และมีมูลค่าการพัฒนาโครงการรวม 21,327 ล้านบาท ซึ่งราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยอยู่ที่ 4.673 ล้านบาท โดยโครงการที่เปิดขายใหม่มากที่สุดเป็นอาคารชุด โดยมีจำนวนหน่วยเปิดขาย 2,535 หน่วย (55.5%) รองลงมาคือ ทาวน์เฮาส์ 1,476 หน่วย (32.3%) และบ้านเดี่ยว 261 หน่วย (5.7%) ของจำนวนที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ