นายฐากูร อินทร์ชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยหลังเปิดงานสัมมนารับฟังความเห็นภาคเอกชนในการลงทุนโครงการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการและแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อว่า สถานีกลางบางซื่อจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2564 โดยรูปแบบจะแบ่งออกเป็น 2 สัญญาคือ 1.สัญญาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ พื้นที่กว่า 13,000 ตร.ม. ซึ่งจะเป็นสัญญาร่วมทุน 2.สัญญาจ้างเอกชนมาบริหารสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นสัญญาจัดซื้อ-จัดจ้าง โดยทั้งสองสัญญาจะมีอายุ 5 ปี และจะเริ่มเปิดประมูลได้สิ้นปีและได้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการในช่วงกลางปี 2563 เพื่อเปิดบริการและเปิดใช้สถานีในปี 2564
ทั้งนี้ พื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่รวม 17,000 ตร.ม. แต่ระยะแรกจะจัดสรรให้เอกชนเข้ามาพัฒนา 13,000 ตร.ม. ได้แก่ พื้นที่ชั้นใต้ดิน-ชั้น 1 และ 2 ส่วนพื้นที่ชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟเชื่อมสนามบิน มีพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ประมาณ 3,000- 4,000 ตร.ม. ซึ่งในส่วนนี้หากแล้วเสร็จทันภายใน 5 ปี ที่เอกชนเข้าพัฒนาพื้นที่แล้ว ก็สามารถนำมารวมในสัญญาเดิมได้ โดยคาดว่าในช่วงปีแรกจะมีผู้โดยสารผ่านเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อ 80,000 คน/วัน และใน 3 ปีของการเปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารใช้บริการผ่านเข้า-ออกกว่า 140,000 คน/วัน ซึ่งขณะนี้มีเอกชนที่สนใจจะเข้ามาพัฒนาและบริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ได้แก่ เซ็นทรัล, เดอะมอลล์ และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม
ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เผยว่า ในส่วนของการบริหารจัดการสถานีกลางบางซื่อนั้น ยอมรับว่า รฟท.จะมีต้นทุนมากโดยเฉพาะค่าไฟ จึงมีแนวคิดที่จะให้กระทรวงพลังงานเข้ามาศึกษาในการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์หรือโซลาร์รูฟ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในเรื่องของการให้ความเย็น และไฟฟ้า และยังมีแนวคิดที่จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สถานีรถไฟ เช่นเดียวกับกรณีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสนามบิน เพื่อนำเงินมาสนับสนุนค่าใช้จ่าย แต่สถานีรถไฟทั่วโลกก็ยังไม่มีใครเคยเก็บ จึงอาจทำได้เพียงคิด.