ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งเหว การเมืองหลังเลือกตั้งป่วน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งเหว การเมืองหลังเลือกตั้งป่วน

Date Time: 5 เม.ย. 2562 08:01 น.

Summary

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทรุดครั้งแรกในรอบ 3 เดือน และต่ำสุดในปี 62 ม.หอการค้าไทยระบุหลังประชาชนไม่มั่นใจสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ขณะนี้เม็ดเงินช่วงเลือกตั้งไม่สะพัด

Latest

ชู “บริการประทับใจ” นักเดินทาง-ท่องเที่ยว ทอท.เปิดแผนยกระดับ “สนามบินไทย” ขึ้นอันดับท็อปโลก

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทรุดครั้งแรกในรอบ 3 เดือน และต่ำสุดในปี 62 ม.หอการค้าไทยระบุหลังประชาชนไม่มั่นใจสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ขณะนี้เม็ดเงินช่วงเลือกตั้งไม่สะพัดตามเป้าหมาย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคว่า ดัชนีทุกรายการปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน และมีดัชนีต่ำสุดในรอบปี 62 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.62 อยู่ที่ 80.6 ลดลงจาก 82.0 ในเดือน ก.พ.62 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 54.6 ลดจาก 55.7 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 92.0 ลดจาก 93.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 67.6 ลดจาก 69.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 75.8 ลดจาก 77.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 98.4 ลดจาก 99.9

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ดัชนีทุกรายการปรับตัวลดลง เพราะประชาชนไม่มั่นใจสถานการณ์การเมืองหลังจากมีการเลือกตั้งเสร็จแล้ว ประกอบกับช่วงการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมือง พบว่า ปริมาณเงินสะพัดลงสู่ท้องถิ่นไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีเงินสะพัด 30,000-50,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากนักการเมืองไม่กล้าที่ทุ่มเงินในการทำกิจกรรมมากนัก เพราะกังวลว่าอาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ เป็นต้น

“ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยอมรับว่ามีการแข่งขันกันดุเดือด แต่จะเน้นการโจมตีกันมากกว่า ส่วนการใช้จ่ายเท่าที่มีการสอบถามบรรดานักการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการดึงตัวหัวคะแนนเป็นหลัก ซึ่งถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ แต่ก็ยอมรับว่า เม็ดเงินที่หัวคะแนนได้รับเพื่อไปทำกิจกรรมในการหาเสียง อาจใช้ไม่เต็มเม็ดเต็ม หน่วย ส่วนเม็ดเงินในการทำกิจกรรมทางการเมืองในลักษณะสีเทานั้น ประชาชนที่ได้รับส่วนใหญ่ก็เก็บไว้ใช้เหมือนกัน เพราะไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่”

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้เหลือ 3.8% ขณะที่สำนักพยากรณ์อื่นๆปรับเป้าหมายจีดีพีลงเหลือขยายตัวต่ำกว่า 4% สอดคล้องกับศูนย์ฯที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5-3.8% อย่างไรก็ตามศูนย์ฯอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดเป้าจีดีพีใหม่หลังวันที่ 9 พ.ค.62 เพราะต้องรอความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมืองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะประกาศรายชื่อ ส.ส. อย่างเป็นทางการก่อนว่าขั้วการเมืองฝ่ายไหนจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายเป็นอย่างไรเพราะนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทยจะมีความแตกต่างกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“ศูนย์ฯประเมินว่าหากไม่มีอะไรพลิกผัน น่าจะได้ตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างช้าช่วงเดือน มิ.ย. ได้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. และดำเนินนโยบายได้เดือน ก.ย.-ต.ค. ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีแรก เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.3-3.5% และในครึ่งปีหลัง หากการเมืองมีเสถียรภาพ ยอมรับกติกาการเลือกตั้ง คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.7-4% แต่หากยังมีการเมืองบนท้องถนน จะกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม หากในช่วงที่กำลังรอรัฐบาลชุดใหม่ และเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวหนัก อยากให้รัฐบาลชุดปัจจุบันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม เช่น เร่งท้องถิ่นเดินหน้าโครงการผูกพันต่างๆ เพื่อให้เงินสะพัดในต่างจังหวัด”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ