ลุ้นประมูลแหลมฉบังเฟส 3 มั่นใจ 2 กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เข้าร่วมลุยแน่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลุ้นประมูลแหลมฉบังเฟส 3 มั่นใจ 2 กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เข้าร่วมลุยแน่

Date Time: 29 มี.ค. 2562 08:50 น.

Summary

  • หลัง กทท.ได้ปรับลดเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ลงมาแล้ว ทำให้มีเอกชนให้ความสนใจเข้ามาซื้อซองทีโออาร์ 35 ราย เป็นรายเดิม 26 ราย และรายใหม่ 9 ราย

Latest

“เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ในประเทศไทย จังหวัดไหนบ้าง? ที่ทำเลมีศักยภาพ พร้อมให้ทุนใหญ่ลงทุน

ด้านรถไฟเร็วสูงเปิดหวูดขายซองแล้ว

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงินลงทุนกว่า 84,000 ล้านบาท ว่า หลัง กทท.ได้ปรับลดเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ลงมาแล้ว ทำให้มีเอกชนให้ความสนใจเข้ามาซื้อซองทีโออาร์ 35 ราย เป็นรายเดิม 26 ราย และรายใหม่ 9 ราย โดย กทท.กำหนดเปิดให้เอกชนเข้ามายื่นซองวันที่ 29 มี.ค.นี้ ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. ซึ่งเมื่อหมดเวลาก็จะเปิดซองที่ 1 ทันที หากผู้ยื่นซองมีคุณสมบัติครบก็จะเปิดซองที่ 2 ในวันเดียวกัน จากนั้นจะทยอยเปิดซองที่ 3-5 ในวันที่ 1, 5 และ 10 เม.ย. และจะพิจารณาให้ผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดเป็นผู้ชนะ ซึ่งจะประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูล 11 เม.ย.นี้ ก่อนเสนอคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป “มั่นใจว่าการยื่นซองครั้งนี้จะมีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่มีศักยภาพหรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารท่าเรือขนาดใหญ่ระดับโลก รวมกลุ่มกันมายื่นซองไม่ต่ำกว่า 2 กลุ่ม เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง”

เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า โครงการแหลมฉบังเฟส 3 จำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเปิดบริการได้ปี 66 เพราะปี 61 แหลมฉบังเฟส 1 และ 2 รับตู้สินค้าอยู่ 8 ล้านทีอียู ขณะที่ความสามารถรองรับตู้สินค้าทั้งหมดมี 11 ล้านทีอียู และมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 3-4% ดังนั้น อีกไม่เกิน 5 ปีจะเกินความสามารถที่รองรับได้และจะเกิดปัญหาความแออัดทันที ทั้งนี้ โครงการพัฒนาแหลมฉบังเฟส 3 ยังจะเพิ่มขนาดท่าเรือให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรับเรือที่มีขนาด 20,000 ทีอียูได้ ถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของไทย ทำให้แหลมฉบังขยับอันดับท่าเรือระดับโลกที่ปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 20 ให้ดีขึ้นได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มทุนที่รวมตัวกันมายื่นซองคาดว่าจะเป็นกลุ่ม บมจ. ปตท. ที่ร่วมกับทุนจีนและกลุ่มทุนจากยุโรป ขณะที่บริษัทฮัทจิสันพอร์ทผู้ลงทุนและพัฒนาท่าเรือรายใหญ่ของโลก ซึ่งมาซื้อซองอาจถอนตัวไม่ร่วมยื่นซอง เนื่องจากต้องการพัฒนาท่าเรือ D ซีรีส์ที่มีอยู่ในแหลมฉบังให้เสร็จก่อน

ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็ได้เปิดจำหน่ายเอกสาร หรือซองประกวดราคา (ทีโออาร์) งานโยธาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 99.26 กิโลเมตร วงเงินรวม 33,958 ล้านบาท โดยเปิดให้เอกชนซื้อซองผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ 28 มี.ค.ถึง 13 พ.ค.นี้ จากนั้นเปิดให้ยื่นข้อเสนอและราคา 14 พ.ค.นี้ และคาดจะทราบผลประมูลไม่เป็นทางการปลาย พ.ค.นี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ