"ไพรินทร์" ยันรัฐบาลนี้ ไม่ใช่รักษาการ เดินหน้าต่อเนื่องโครงสร้างพื้นฐาน ชี้ 5 โครงการอีอีซี ยังเป็นไปตามแผน หนุนตั้งโรงงานผลิตรถไฟ ดันขึ้นฮับในอาเซียน เพิ่มการจ้างงานไม่น้อยกว่า 500 คน...
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงาน RAIL Asia Expo 2019 ที่ลานกิจกรรม สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มักกะสัน ว่า รัฐบาลนี้ไม่ใช่รักษาการ โครงการต่างๆ ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบราง รัฐบาลไหนเข้ามาก็จะต้องลงทุน เพราะอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันก็หันมาใช้ระบบรางในการเดินทางมากขึ้น
ทั้งนี้ในส่วนของโครงการในอีอีซีทั้ง 5 โครงการ คาดว่าจะเดินหน้าได้ตามเป้าหมายภายในรัฐบาลนี้ เพราะหลายโครงการยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ที่ดำเนินการโดยกองทัพเรือ โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และโครงการท่าเรือมาบตาพุด ที่อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคาแล้ว ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างการเจรจาของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และผู้เสนอราคาต่ำสุด คาดว่าจะได้ข้อสรุปตามเป้าหมายที่กำหนดในเดือนเม.ย.นี้
สำหรับการจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟในประเทศนั้น กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการหารือร่วมให้มีการตั้งโรงงานผลิตรถไฟในประเทศไทย โดยจะเริ่มในปี 2563-2564 ซึ่งนอกจากจะมีการผลิต ประกอบรถไฟในประเทศแล้ว ในอนาคตจะสามารถส่งออกรถไฟฟ้าไปยังประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี(กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) คาดว่าจะจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟ รถไฟความเร็วสูงได้ 3 โรงงาน มียอดการผลิตรวมสูงกว่า 900 ตู้/ปี ในปี 2570
นอกจากนี้จะสามารถลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศได้ 10 เท่า จากที่มีการนำเข้ากว่า 7 หมื่นล้านบาท หรือสามารถลดการนำเข้าให้เหลือประมาณ 6-7 พันล้านบาท และยังลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงรักษาได้อีกกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี รวมถึงส่งเสริมให้คนไทยได้มีความรู้ในการผลิต เพิ่มการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมประกอบผลิตตัวรถได้อีกไม่น้อยกว่า 500 คน และยังช่วยลดการนำเข้าอะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟ รถไฟฟ้าได้กว่า 3 พันรายการ จากเดิมต้องนำเข้า 7 พัน ถึง 1 หมื่นรายการ รวมทั้งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟในอาเซียน
"เชื่อมั่นว่าถ้าเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางระบบรางของกลุ่มซีแอลเอ็มวี แน่นอน เพราะปัจจุบันไทยเชื่อมต่อรางกับมาเลเซียอยู่แล้ว อีกหน่อยก็จะเชื่อมกัมพูชา และกำลังจะเชื่อมจากหนองคายไปถึงเวียงจันทน์ หากสามารถเชื่อมต่อไปยังเมียนมาได้ จะเป็นศูนย์กลาง ขณะเดียวกันก็จะเป็นศูนย์กลางซ่อมบำรุงรถไฟให้กับทั้ง 5 ประเทศดังกล่าวด้วย" นายไพรินทร์กล่าว
นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการ กลุ่มบริหารรถไฟฟ้าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ได้รับงบประมาณหลายแสนล้านบาท ในการลงทุนยกเครื่องทางรถไฟทั่วประเทศ ระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตร เพื่อให้รถไฟไทยขนส่งสินค้าและผู้โดยสารได้รวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันยังได้รับงบประมาณอีกเกือบ 3 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) และกรุงเทพฯ-ระยอง (รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน) ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของระบบรางประเทศไทย แต่การทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนารถไฟอย่างเดียวคงไม่คุ้มค่า ถ้าหากขาดแนวคิดเรื่องการพัฒนารูปแบบใหม่ที่เรียกว่าทีโอดี หรือการพัฒนาพื้นที่โดยใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะระบบขนส่งทางราง โดยปัจจุบัน รฟท.มีโครงการพัฒนาทีโอดีขนาดใหญ่และทันสมัย อยู่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ เพราะเมื่อสถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการในปี 2564 ก็จะกลายเป็นแกรนด์ สเตชั่นแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และของประเทศไทย สามารถรองรับการเดินทางได้ทั้งรถไฟทางคู่, รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จนถึงรถไฟความเร็วสูง
ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางมาใช้บริการสถานีกลางบางซื่อจำนวนมาก รฟท. จึงมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อขนาด 2,325 ไร่ ภายใต้ชื่อ โครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธิน โดยการการพัฒนาจะมีตั้งแต่ระบบสาธารณูปโภค สวนสาธารณะ โรงแรม หน่วยงานราชการ ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัดจตุจักร ย่านธุรกิจ ไปจนถึงแหล่งที่พักอาศัย แต่การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ใช่เมืองใหม่ธรรมดา เพราะ รฟท.ได้ ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้วยการใช้เทคโนโลยี 3 ด้าน คือ ด้านคมนาคม ด้านพลังงานทดแทน และโครงสร้างพื้นฐานบริการสาธารณะเพื่อบริหารพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้พลังงาน ลดมลภาวะ รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร.