สรรพสามิตโกยภาษี น้ำสี-อัดลมอื้อ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สรรพสามิตโกยภาษี น้ำสี-อัดลมอื้อ

Date Time: 12 มี.ค. 2562 08:20 น.

Summary

  • รองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบ 62 คือเดือน ต.ค.61-ก.พ.62 กรมจัดเก็บภาษีจากน้ำหวาน ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบ 62 คือเดือน ต.ค.61-ก.พ.62 กรมจัดเก็บภาษีจากน้ำหวาน ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ในเครื่องดื่มประเภทน้ำสี-น้ำอัดลม เพิ่มขึ้นจากประมาณการ 300 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2-3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าในปี 62 หลังการปรับขึ้นภาษีน้ำหวานอีกครั้งในเดือน ต.ค.62 กรมจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีถึง 25,000 ล้านบาท จากปี 61 ที่จัดเก็บภาษีได้ 22,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,000 ล้านบาท

“สาเหตุที่กรมจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มได้มากขึ้น เพราะคนมีกำลังซื้อมากขึ้น ประกอบกับไทยเข้าสู่ฤดูร้อนทำให้น้ำอัดลมขายดี นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีน้ำหวานยังช่วยทำให้มีรายได้เข้ากรมมากขึ้น เห็นได้จากก่อนเก็บภาษี กรมมีรายได้จากการจัดเก็บส่วนนี้เพียง 18,000 ล้านบาทต่อปี แต่เมื่อขึ้นภาษีน้ำหวานเดือน ก.ย.60 กรมมีเงินเพิ่มถึง 22,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม แม้กรมจะขึ้นภาษีน้ำหวานอีกครั้งในเดือน ต.ค.นี้ แต่ผู้ประกอบการยังไม่ค่อยปรับลดปริมาณความหวานลง เพื่อให้สอดคล้องกับภาษีใหม่ โดยพบว่า น้ำอัดลมค่าความหวานเฉลี่ยยังอยู่ที่ 12 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร (มล.) จาก 14 กรัมต่อ 100 มล. แต่น้ำอัดลมสีดำ อย่าง โค้ก และเป๊ปซี่ ยังไม่ได้ปรับสูตร เพราะเป็นสูตรมาตรฐานทั่วโลก จึงต้องคงรสชาติและปริมาณความหวานให้คล้ายคลึงกัน การปรับความหวานลงเฉพาะไทยจึงทำได้ยาก แต่ได้ออกผลิตภัณฑ์ประเภทซีโร่ คือ ไม่มีน้ำตาลผสม แต่ไม่ได้รับความนิยม จึงทำให้เครื่องดื่มกลุ่มนี้ยังมีค่าความหวานในระดับเดิม และต้องเสียภาษีสูงกว่าน้ำสี

ทั้งนี้ หลังจากปรับขึ้นภาษีความหวานในวันที่ 1 ต.ค.62 เครื่องดื่มในกลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัมต่อ 100 มล. แต่ไม่เกิน 14 กรัมต่อ 100 มล. จะเสียภาษี 1 บาทต่อลิตร จากเดิม 0.5 บาทต่อลิตร, กลุ่มที่เกิน 14 กรัมต่อ 100 มล. แต่ไม่เกิน 18 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร จากเดิม 1 บาทต่อลิตร และกลุ่มที่เกิน 18 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร ซึ่งหากพิจารณาตามค่าความหวานในเครื่องดื่มปัจจุบัน คาดว่า ภาษีจะปรับขึ้น 50 สตางค์-1 บาทต่อลิตรเท่านั้น ส่วนราคาขายเครื่องดื่มจะปรับขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ประกอบการ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ