นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (เอฟเอเอ) ของสหรัฐฯได้เข้ามาดำเนินการตามโครงการตรวจสอบทางเทคนิค ประเมินความปลอดภัยการบินระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเมื่อเร็วๆนี้ เอฟเอเอพบว่า การกำกับดูแลการบินพลเรือนของไทยยังมีข้อบกพร่องอยู่ 26 ข้อ รวมถึงข้อบกพร่องบางประการที่ กพท.กำลังแก้ไขอยู่
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ คือ เอฟเอเอต้องจัดส่งผลการตรวจสอบอย่างละเอียดมาให้กับ กพท.ภายใน 60 วัน เพื่อให้แก้ไขข้อบกพร่องทั้งหมด ให้ถูกต้องตามมาตรฐาน และวิธีปฏิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) และเมื่อ กพท.แก้ไขแล้วเสร็จ ก็จะส่งหนังสือไปถึงเอฟเอเอ เพื่อขอรับการตรวจอย่างเป็นทางการครั้งใหม่
“หากประเทศไทยได้รับการตรวจสอบผ่านทั้งหมด ก็จะสามารถยกระดับมาตรฐานจากระดับที่ 2 (Category 2) กลับมาอยู่ในระดับที่ 1 (Category 1) คือประเทศที่มีระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนได้ตามมาตรฐานของเอฟเอเอ ทำให้สายการบินของไทยได้รับอนุญาตให้บินเข้าสหรัฐฯได้ รวมทั้งประเทศที่อ้างอิงผลการตรวจของเอฟเอเอ เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมขนส่งอากาศยานของไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อบกพร่อง 26 ข้อ ที่ถูกตรวจพบ ไม่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยทางด้านการบินของไทย เชื่อว่าสามารถแก้ไขได้ไม่ยาก เช่น ปัญหาด้านกฎหมายเกี่ยวกับการรองรับศูนย์ซ่อมเครื่องบินในต่างประเทศ เอฟเอเอ ได้ระบุว่า ปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับศูนย์ซ่อมในประเทศเป็นทางการ เป็นต้น และการขอให้เอฟเอเอมาตรวจสอบรอบใหม่ อาจต้องรอคิวนาน 1-2 ปี เพราะมีหลายๆประเทศยื่นเรื่องให้เอฟเอเอเข้าไปตรวจสอบเช่นกัน จึงทำให้ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า สายการบินไทยก็จะยังไม่สามารถทำการบินเข้าสหรัฐฯได้.