นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยหลังร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอนาคตใหม่ของ รฟท. กับพนักงานรถไฟ ว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางของรถไฟในอนาคต ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งการที่รถไฟจะอยู่ต่อไปได้ ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน ทั้งนี้ รฟท. ต้องปรับกลยุทธ์การตลาดจากเดิมเน้นเดินรถเส้นทางระยะไกลเป็นหลัก ให้หันมายกระดับการให้บริการเส้นทางระยะกลางแทน อาทิ กทม.-โคราช กทม.-ชุมพร เป็นต้น โดยให้มี การปรับปรุงระบบทางรถไฟ และระบบอาณัติ สัญญาณให้เป็นระบบรถไฟด่วนพิเศษเพื่อดึงให้คนหันมาใช้บริการรถไฟ
“หากคนรถไฟไม่เปลี่ยนแปลงการทำงาน ภาครัฐต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ซึ่งจะไม่ดีต่อคนรถไฟ รวมทั้งดำเนินการตามผลประกอบการ ซึ่งมีหนี้และขาดทุนสะสมกว่า 140,000 ล้านบาท หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการเพิ่มรายได้และค่าใช้จ่ายในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือปี 66 รฟท.จะมีหนี้และขาดทุนสะสม 200,000 ล้านบาท แต่ถ้า รฟท.ช่วยกันปรับเปลี่ยนก็จะหยุดขาดทุนได้ในปี 66” ทั้งนี้ รฟท.ต้องปรับตัว ทั้งเรื่องการเดินรถ วิธีการให้บริการและปรับช่วงเวลาของการเดินรถใหม่ ให้สอดคล้องกับการทำงานของระบบรถไฟรูปแบบใหม่ อาทิ รถไฟชานเมืองสายสีแดงที่เตรียมเปิดบริการต้นปี 64 เป็นต้น ดังนั้น รฟท.จึงต้องเร่งเพิ่มบุคลากร.