"เลือกตั้ง" ดันดัชนีผู้บริโภคพุ่งทะลัก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

"เลือกตั้ง" ดันดัชนีผู้บริโภคพุ่งทะลัก

Date Time: 7 ก.พ. 2562 09:20 น.

Summary

  • ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ม.ค. เท่ากับ 80.7 เพิ่มจาก 79.4 ในเดือน ธ.ค.2561 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,247 คน ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ม.ค. เท่ากับ 80.7 เพิ่มจาก 79.4 ในเดือน ธ.ค.2561 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 54.5 เพิ่มจาก 53.4 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 92.3 เพิ่มจาก 90.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 67.7 เพิ่มจาก 66.3 ของเดือนก่อนหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 75.8 เพิ่มจาก 74.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 98.7 เพิ่มจาก 97.3

“สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในรอบ 5 เดือนมาจากปัจจัยหลัก อาทิ ความชัดเจนในเรื่องของวันเลือกตั้ง หลังจากมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้, นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น หลังจากไทยยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า (VISA On Arrival) เป็นต้น”

ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามปัจจัยลบที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้อีก โดยเฉพาะกรณีของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร(เบร็กซิต) ที่หากยืดเยื้อไม่มีแผนชัดเจน จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตไม่โดดเด่น รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ตกต่ำในรอบ 3-5 ปี ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้กำลังซื้อของกลุ่มฐานรากยังไม่ฟื้น หรือรายได้ยังกระจุกตัวอยู่กับคนบางกลุ่ม ทำให้เศรษฐกิจยังไม่ดีในสายตาผู้บริโภค

“เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นกลับมาเต็มที่ แต่ที่เดือน ม.ค.มีสัญญาณบวก เพราะเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานดีพอ จึงไม่ทรุดตัวไปมากกว่านี้ ประกอบกับมีสัญญาณที่ดีจากการเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 จากเงินสะพัดในช่วงของการหาเสียง 30,000-50,000 ล้านบาท ช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 เพิ่มขึ้น 0.3-0.5% หรือเติบโต 4% ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงคาดการณ์เติบโตที่ 4-4.2% ภายใต้สงครามการค้าโลกคลี่คลาย รวมถึงเบร็กซิตมีทางออกที่ดี และหลังเลือกตั้งมีความชัดเจนเรื่องพรรคการเมืองที่จะมาจัดตั้งรัฐบาล และบรรยากาศในเดือน พ.ค.ที่จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวมทั้งค่าฝุ่น PM 2.5 ไม่มีปัญหารุนแรง”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ