ปิดป้ายราคายาสัปดาห์หน้า สั่งเร่งศึกษาต้นทุนค่ารักษา รพ.เอกชนใน 60 วัน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปิดป้ายราคายาสัปดาห์หน้า สั่งเร่งศึกษาต้นทุนค่ารักษา รพ.เอกชนใน 60 วัน

Date Time: 1 ก.พ. 2562 09:01 น.

Summary

  • สัปดาห์หน้าออกประกาศ กกร.กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งปิดป้ายแสดงราคา “ยาและเวชภัณฑ์-บริการทางการแพทย์” ให้ผู้บริโภคได้รู้ราคาก่อนตัดสินใจใช้บริการ ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%



สัปดาห์หน้าออกประกาศ กกร.กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งปิดป้ายแสดงราคา “ยาและเวชภัณฑ์-บริการทางการแพทย์” ให้ผู้บริโภคได้รู้ราคาก่อนตัดสินใจใช้บริการ ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท สั่งตั้งคณะทำงานศึกษาโครงสร้างต้นทุนค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนให้เสร็จ 60 วัน ก่อนชงคณะอนุกรรมการคุมยาหามาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสม เร่งรณรงค์ให้ใช้สิทธิ์ขอใบสั่งยาเพื่อซื้อยานอกโรงพยาบาลได้

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ครั้งแรกว่า กรมการค้าภายในในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จะออกประกาศ กกร. กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งปิดป้ายแสดงราคายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้ชัดเจน ซึ่งเป็นมาตรการแรกที่จะนำมาใช้หลัง ครม. เห็นชอบให้เป็นสินค้าและบริการควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยคาดว่าจะออกประกาศได้ภายในสัปดาห์หน้า “การปิดป้ายแสดงราคา แล้วแต่โรงพยาบาลเอกชนว่าจะทำอย่างไร แต่ต้องทำให้ประชาชนที่เข้าไปใช้บริการเห็นได้ง่าย อาจทำเป็นสมุดให้เปิดดู ใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ หรือทำตู้คีออสให้กดดู แต่ไม่ใช่ทำแล้วเอาไปแอบไว้ เก็บไว้หลังเคาน์เตอร์ เบื้องต้นส่วนของยาให้เน้นรายการที่มีคนใช้เยอะๆก่อน แล้วค่อยเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าบริการทางการแพทย์ที่ต้องแสดงราคาด้วย”

ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลไม่ดำเนินการ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนบริการทางการแพทย์ได้ขอความร่วมมือสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้แจ้งสมาชิกทุกรายให้แจกแจงค่าบริการอย่างละเอียดทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งค่าบริการทางการแพทย์ ที่เป็นค่ารักษาพยาบาลและบริการเสริมอื่นๆ เช่น ค่าห้องพัก ค่าบริการอื่น เพื่อให้ประชาชนที่เข้าไปใช้บริการได้รับรู้ก่อนตัดสินใจใช้บริการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แต่งตั้งคณะทำงาน ที่มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน เพื่อพิจารณาโครงสร้างต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน โดยแบ่งตามระดับของโรงพยาบาล เช่น 5 ดาว 4 ดาว 3 ดาว เป็นต้น ซึ่งแต่ละระดับต้นทุนจะต่างกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลระดับ 5 ดาว ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้เวลา 60 วัน และให้นำรายละเอียดที่ได้เสนอให้คณะอนุกรรมการฯพิจารณา เพื่อหามาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสมต่อไป ส่วนการรณรงค์ให้ผู้บริโภครับรู้สิทธิ์ในการขอใบสั่งยาเพื่อซื้อยาจากภายนอกโรงพยาบาลนั้น ได้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกำหนดหลักเกณฑ์ให้โรงพยาบาลเอกชนประกาศสิทธิ์ให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน เปิดเผย เพราะเป็นสิทธิ์ของผู้บริโภคที่จะขอใบสั่งยาและซื้อยาข้างนอกได้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหายามีราคาแพงลงได้อีกแนวทางหนึ่ง

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวต่อถึงกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดอยู่แล้วว่าจะเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ฟรีในทุกโรงพยาบาลใน 72 ชั่วโมงแรก แต่กำหนดเงื่อนไขการรับรักษา ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินในขั้นวิกฤติ หรือในระดับสีแดงเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยในระดับสีเหลืองหรือสีเขียวที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ถูกปฏิเสธการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง จึงได้ให้กระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยควรจะได้สิทธิ์ในการรักษา ขณะเดียวกัน เห็นว่าในการรักษาโรค โรงพยาบาลเอกชนต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อนว่าจะได้รับการรักษาอย่างไร มีค่าใช้จ่ายเท่าไร โดยยกตัวอย่างกรณีมีดบาด ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายหลักหมื่นบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรือกรณีที่เข้าไปรักษาโรคหนึ่ง แต่มีการตรวจสอบพบโรคอื่นเพิ่มเติม จะต้องแจ้งรายละเอียดการรักษาและค่าใช้จ่ายให้ชัดเจนด้วย “แนวทางทั้งหมดนี้ กระทรวงพาณิชย์จะขอความร่วมมือก่อน หากโรงพยาบาลเอกชนไม่ให้ความร่วมมือ จึงใช้มาตรการกฎหมายดำเนินการต่อไป แต่จากที่ประชุมครั้งนี้ ทุกฝ่ายทั้งโรงพยาบาลเอกชนและมูลนิธิผู้บริโภค พึงพอใจกับมติที่ประชุม ซึ่งพิจารณาแล้วเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า พอใจกับการประชุมครั้งนี้ แต่สำหรับข้อเสนอให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน มีค่าบริการอัตราเดียวกันทั้งหมด ทั้งในกรณีสีเหลืองและสีเขียวนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะโรงพยาบาลเอกชนแจ้งว่าปัจจุบันผู้ป่วยสีแดงสามารถรักษาฟรีได้ 72 ชั่วโมงอยู่แล้ว ส่วนกรณีสีเหลืองและเขียวมีค่าใช้จ่าย และโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถรับรักษาได้ฟรี เพราะเป็นต้นทุนของโรงพยาบาล จึงต้องหารือกันใหม่ และจะนำโครงสร้างต้นทุนราคายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์มาหารืออีกครั้งในอีก 60 วัน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ