บอร์ด กสทช.เห็นชอบร่างประกาศเยียวยาและประมูลคลื่น 700 ให้บริการ 5จี รวมถึงมาตรการชดเชยทีวีดิจิทัล ที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น เตรียมเปิดฟังความเห็นสาธารณะ 45 วัน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช.นัดพิเศษ วันนี้ (15 ม.ค.2562) เห็นชอบในหลักการให้นำร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์)
ขั้นตอนต่อไป ในวันที่ 18 ม.ค. 2562 สำนักงาน กสทช.จะนำร่างประกาศดังกล่าวประกาศในเว็บไซต์ กสทช. เพื่อเปิดเผยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลของประกาศทั้งฉบับ และหลังจากนั้นจะใช้เวลาในการรับฟังความเห็นทางเว็บไซต์ รวมถึงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงปลายเดือน ก.พ.2562 ซึ่งจะใช้เวลาราว 45 วัน หลังจากนั้นจึงจะนำมาเสนอบอร์ด กสทช.พิจารณาอีกครั้ง คาดว่าปลายเดือน เม.ย.2562 จะนำร่างประกาศดังกล่าวลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้
ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะนั้น บอร์ด กสทช.ให้นำข้อสังเกตไปรับฟังความคิดเห็นด้วย ได้แก่ จะเปิดให้เอกชนที่ถูกขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ที่ชนะประมูลแล้วไม่มาชำระเงินเข้าร่วมประมูลได้หรือไม่, ระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี หรือ 20 ปี, ระยะเวลาการติดตั้งอุปกรณ์ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการเป็นเวลากี่ปี, จำนวนใบอนุญาต 7 ใบ หรือ 9 ใบอนุญาต, ระยะเวลาการชำระเงิน 10 ปี 9 งวด โดยงวดแรก 20% ส่วนงวดที่ 2-9 ชำระในปีที่ 3 เป็นต้นไป งวดละ 10% และจะอนุญาตให้คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล พร้อมได้รับเงินชดเชยได้หรือไม่ กรณีไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ รวมถึงส่งให้คณะอนุกรรมการกฎหมาย กสทช.พิจารณาเพื่อความรอบคอบอีกครั้งด้วย
“บอร์ด กสทช.เห็นชอบร่วมกันในครั้งนี้ว่า ร่างประกาศควรจะเป็นฉบับเดียวกัน จากเดิมมีความเห็นแยกประกาศ โดยบอร์ดเห็นว่า หากแยกประกาศ อาจใช้เวลาในการดำเนินงาน ขณะที่อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และเจตนารมณ์ของ กสทช. ก็ต้องการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลอย่างจริงใจด้วย ไม่ได้ต้องการซื้อเวลา หรือดึงเรื่องไว้ หากรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ จะรวมหรือแยกประกาศ ก็ให้บอร์ด กสทช.ตัดสินใจอีกครั้ง” นายฐากร กล่าว
นายฐากร กล่าวด้วยว่า การเรียกคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ แล้วนำประมูลเพื่อให้บริการ 5จี เมื่อได้เงินแล้ว ก็ต้องนำมาชดเชยผู้ได้รับผลกระทบด้วย คือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้งหมดกว่า 20 ช่อง ผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดิจิทัล ผู้รับใบอนุญาตส่ิงอำนวยความสะดวกการให้บริการทีวีดิจิทัล ตามประกาศ กสทช.ว่าด้วยการเผยแพร่ภาพเป็นการทั่วไป (มัสต์แครี่) และประชาชนทีไ่ด้รับผลกระทบ ซึ่งในส่วนของประชาชนนั้นได้รับผลกระทบน้อยมาก โดยทีวีดิจิทัลจะใช้คลื่น 510-610 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนทีวีชุมชนใช้คลื่น 470-510 เมกะเฮิรตซ์แทน ดังนั้นการนำคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูล จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในการรับชม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ได้ทำหนังสือถึงกรรมการ กสทช.ทุกคน ขอให้เร่งรัดการตัดสินใจและประกาศบังคับใช้เกี่ยวกับการชดเชยเยียวยา และประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ภายในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์ และทีวีดิจิทัลสามารถก้าวข้ามวิกฤติได้โดยเร็ว.