จับตารัฐบาล เอาจริงหรือถอย คุมค่าหมอ-รพ.เอกชน โต้ขูดรีด ทำคนล้มละลาย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตารัฐบาล เอาจริงหรือถอย คุมค่าหมอ-รพ.เอกชน โต้ขูดรีด ทำคนล้มละลาย

Date Time: 14 ม.ค. 2562 14:59 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • ต้องติดตามดู นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำรายการสินค้าควบคุมยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าที่ต้องควบคุม เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. หรือไม่ ?

Latest


ต้องติดตามดู นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำรายการสินค้าควบคุมยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าที่ต้องควบคุม เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. หรือไม่ ? ภายหลังคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบ

เนื่องจากที่ผ่านมามีการร้องเรียนค่ายา ค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน มีราคาแพง ซึ่งมีงานวิจัยระบุการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติของโรงพยาบาลเอกชนจำนวนไม่น้อย เรียกเก็บค่าบริการแพงจริง เมื่อเปรียบเทียบรายการยากับ รพ.ศูนย์ สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีราคาต่างกันตั้งแต่ 60-400 เท่า

ด้าน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ว่า ต้องติดตามดูกระทรวงพาณิชย์จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม.หรือไม่ หรืออย่างช้าวันที่ 22 ม.ค.นี้ เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนรวมที่รัฐต้องเข้าไปดูแล และมีประชาชนจำนวนมากขานรับอย่างล้นหลาม ซึ่งมันกระทบคนทุกคนในสังคม

"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องคนรวยหรือคนจน รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลหลักประกันสุขภาพ ไม่ให้คนล้มละลายจากการเจ็บป่วย อย่างล่าสุดประเทศสิงคโปร์ ได้เข้าไปกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาลไม่ให้คนจ่ายเพิ่ม จนเกิดผลกระทบต่อการเป็นอยู่ และขึ้นชื่อว่าเป็นคนรวย หากเจ็บป่วยเป็นเวลานานก็จนได้ ซึ่งมีคนรวยรายหนึ่งในไทย หากบอกชื่อต้องมีคนรู้จัก ได้เจ็บป่วยเป็นเวลานานนอน รพ.เอกชน จนเกือบไม่เหลืออะไรเลยให้ลูกหลาน มีอย่างเดียวที่ทำได้ต้องย้ายไป รพ.ของรัฐ"

ส่วนกรณีผู้มีส่วนได้เสียออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยในการนำยา-เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ขึ้นเป็นบัญชีสินค้าควบคุม เนื่องจากต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคม ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมสนับสนุนให้เป็นสินค้าควบคุม เพราะทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ อยากให้คนที่เกี่ยวข้องดูในรายละเอียด อีกทั้งเงินค่ารักษาพยาบาลก็เข้ากระเป๋าแค่คนคนเดียว หรือคนไม่กี่คนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชน

ในส่วนอีกฝั่งหนึ่ง นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ออกแถลงการณ์คณะกรรมการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ระบุว่า หากมีการกำกับค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ไม่มีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ที่ทันสมัย และจะทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยด้อยลง ทั้งที่ปัจจุบันการรักษาพยาบาลของประเทศไทยไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลก และนับเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

สำหรับกระแสต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการกำกับค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเข้าใจสับสน และตีความหมายไปในหลากหลายแง่มุมนั้น จึงออกแถลงการณ์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชนดังนี้

1. ค่ายาในโรงพยาบาลเอกชนราคาแพงจริงหรือ ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล และประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 และล่าสุดที่ปรับปรุงใน พ.ศ. 2561 ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนได้ถือปฏิบัติโดยตลอดจนปัจจุบัน โดยใน พ.ร.บ.มีการกำหนดมาตรฐานทางบัญชีในรายละเอียดค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลไว้อย่างละเอียด ดังนั้นค่ายาในโรงพยาบาลเอกชน จึงประกอบด้วยรายละเอียดมากมาย มิใช่เป็นเพียงตัวยาอย่างเดียว

2. คนไทยล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลจริงหรือ สมาคมฯ ระบุว่า คนไทยทุกคนสามารถไปรับการรักษาพยาบาลตามสิทธิของตนเอง ทั้งสิทธิ์หลักประกันสุขภาพ สิทธิ์ประกันสังคม และสิทธิ์ข้าราชการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในภาวะฉุกเฉินวิกฤติ ประเทศไทยมีกฎหมายที่เรียกว่า UCEP ที่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายในไม่เกิน 72 ชั่วโมง ดังนั้น คนไทยในปัจจุบัน "เป็นไปไม่ได้ที่จะล้มละลายจากการรักษาพยาบาล" โดยโรงพยาบาลเอกชน จัดเป็นโรงพยาบาลทางเลือก และยังมีโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมรับดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ และระบบประกันสังคม ซึ่งช่วยรับผิดชอบดูแลจนถึงที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ผลจากการสำรวจ พบว่า 64.8% ของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ รายงานว่าเข้าร่วมในโครงการประกันสุขภาพ และอีก 35.2% ไม่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว สำหรับประเภทประกันสุขภาพ พบว่า มีโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน 62.7% ให้บริการในประเภทกองทุนเงินทดแทน, ส่วน 60.4% ให้บริการในประเภทประกันสุขภาพเอกชน, 55.5% ให้บริการในประเภทการประกันสังคม, 32.9% ให้บริการในประเภทกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และ 29.3% ให้บริการสำหรับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

3. โครงการ Medical Hub ของประเทศไทย ผู้ป่วยชาวต่างประเทศที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน มีจำนวนทั้งสิ้น 4.23 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นผู้มารับบริการที่เป็นผู้ป่วยนอก ชาวต่างประเทศ 95.6% และผู้มารับบริการเป็นผู้ป่วยใน ชาวต่างประเทศ 4.4%

ด้านผลการดำเนินกิจการปี 2559 พบว่า การดำเนินกิจการในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจของประเทศถึง 99,427 ล้านบาท ซึ่งมาจากมูลค่ารายรับจากการดำเนินกิจการ 234,327.2 ล้านบาท หักด้วยค่าใช้จ่ายขั้นกลางในการดำเนินการ 134,900.2 ล้านบาท

ทั้งนี้ การที่มีนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ทำให้ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยมาก โดยที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนรายงานถึงเหตุผลที่ชาวต่างประเทศเข้ามารักษา กล่าวคือ 46.4% รายงานว่าราคาค่ารักษาพยาบาลไม่แพง, 37.5% ระบุว่าบุคลากรทางการแพทย์เป็นมิตรกับผู้ป่วย, 34.6% ระบุว่าความสามารถของไทย, 27.4% ระบุว่าแพทย์ไทยมีความเชี่ยวชาญหลายด้าน และอีก 24.5% ระบุว่าเทคโนโลยีทันสมัย.

ส่อแววถอยคุมค่ารักษารพ.เอกชน "สนธิรัตน์" อ้ำอึ้ง ชงครม.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์