ส่อแววถอยคุมค่ารักษารพ.เอกชน "สนธิรัตน์" อ้ำอึ้ง ชงครม.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ส่อแววถอยคุมค่ารักษารพ.เอกชน "สนธิรัตน์" อ้ำอึ้ง ชงครม.

Date Time: 11 ม.ค. 2562 19:08 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • หุ้นรพ.เอกชนร่วงหนัก "สนธิรัตน์" ถกด่วนสมาคมรพ.เอกชน-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำความเห็นข้อเสนอหารือภายใน ก่อนชงครม.นำยา-เวชภัณฑ์-ค่าหมอ เป็นสินค้าควบคุมเหมือนเดิมหรือไม่ ยันไม่เปลี่ยนจุดยืน

Latest


หุ้นรพ.เอกชนร่วงหนัก "สนธิรัตน์" ถกด่วนสมาคมรพ.เอกชน-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำความเห็นข้อเสนอหารือภายใน ก่อนชงครม.นำยา-เวชภัณฑ์-ค่าหมอ เป็นสินค้าควบคุมเหมือนเดิมหรือไม่ ยันไม่เปลี่ยนจุดยืน ไม่มีใคร "ล็อบบี้"...

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นัดประชุมวาระพิเศษร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สมาคมประกันชีวิตและวินาศภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อหารือในประเด็นที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีตนเป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 ม.ค.62 มีมติให้นำยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้าเป็นสินค้าและบริการควบคุม ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาและบริการ พ.ศ. 2542 และกระทรวงพาณิชย์ จะนำมติกกร.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของครม. ภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยโรงพยาบาลเอกชนต้องการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะถึงมาตรการที่จะนำมาใช้ในการกำกับดูแล จึงได้เปิดโอกาสให้มาหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณามาตรการที่เหมาะสมและเป็นไปได้

สำหรับผลการหารือครั้งนี้ เอกชนมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะโครงสร้างบริการทางการแพทย์มีความซับซ้อน ไม่ใช่แค่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง โรคเดียวกัน อาจจะใช้วิธีการรักษาไม่เหมือนกัน เครื่องมือที่จะนำมาใช้แตกต่างกัน บริการก็แตกต่างกัน หรือกระทั่งหมอที่รักษามีความเชี่ยวชาญต่างกัน การใช้มาตรการแบบเหมารวม ถือว่าไม่เป็นธรรม จึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด วิธีการที่จะนำมาดูแลต้องเหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน และผู้บริโภค

ส่วนจะยังคงนำมติกกร.เข้าสู่การพิจารณาของครม.ภายในสัปดาห์หน้าหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ ต้องนำข้อเสนอแนะจากการประชุมครั้งนี้มาหารือเป็นการภายในอีกครั้ง เมื่อได้ความชัดเจนถึงมาตรการที่จะนำมาใช้กำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์แล้ว จึงนำเสนอขอความเห็นชอบจากครม. เพราะภาคเอกชนต้องการเห็นมาตรการจะใช้กำกับดูแลที่ชัดเจนก่อน

"ยืนยันว่า ผมจะไม่เปลี่ยนจุดยืนในการดูแลผู้บริโภค และไม่มีใครมาล็อบบี้ให้ยกเลิกการนำยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าและบริการควบคุม แต่การจะใช้มาตรการใดๆ ต่อภาคธุรกิจ จำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบให้รอบด้าน รวมถึงต้องเป็นมาตรการที่จะต้องสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย"

ด้านนพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำยาและเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนเป็นสินค้าและบริการควบคุม เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีมาตรการที่โปร่งใสอยู่แล้ว และที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ควบคุมดูแล จึงมั่นใจได้ว่าการบริการของโรงพยาบาลมีความโปร่งใส

ขณะที่น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีที่หุ้นโรงพยาบาลเอกชนร่วงหนัก มองว่า เรื่องหุ้นมีขึ้นมีลง ถือเป็นไปตามภาวะตลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ การดูแลชีวิตของคน ที่รัฐบาลควรจะต้องให้ความสำคัญมากกว่า ซึ่งจะติดตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์ โดยเห็นว่ามาตรการที่ควรจะนำมาใช้ คือ การกำหนดส่วนต่างของต้นทุนและกำไรของโรงพยาบาลที่เหมาะสม เพราะค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลรัฐและเอกชนต่างกันมาก เช่น ราคายา โรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ 20-400 เท่า ค่าผ่าตัดไส้ติ่งเอกชนแพงกว่ารัฐ 14 เท่า แต่ของสิงคโปร์ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ห่างกันเพียง 2.5 เท่า

ทั้งนี้หากกระทรวงพาณิชย์ไม่เดินหน้าต่อ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะฟ้องศาลปกครองว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผิดมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดูแลประชาชน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์