นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. เปิดเผยแผนลงทุน 5 ปี (ปี 62-66) ว่า บริษัทได้จัดสรรงบประมาณรวม 525,055 ล้านบาท เน้นให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม จากโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีอยู่ปัจจุบัน เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองและปริมาณการผลิตในอนาคต พร้อมเปิดทางสำหรับโอกาสทางธุรกิจใหม่เพื่อรองรับกับการเติบโตอย่างยั่งยืน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยความคืบหน้าของการเปิดประมูลปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชในส่วนที่รัฐจะต้องเข้าร่วมลงทุน 25% ตามที่ระบุในร่างขอบเขตการประมูล (ทีโออาร์) ในรูปแบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าไม่ต้องคัดเลือกผู้ถือหุ้นในส่วนนี้เพิ่ม เนื่องจาก บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เป็นผู้ชนะการประมูลในทั้ง 2 แหล่ง และ ปตท.สผ.เป็นบริษัทลูกของ บมจ.ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ดังนั้น จึงถือว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนอยู่แล้ว ปตท.สผ.อยู่ในข่ายที่สามารถลงทุนได้ในตัวเอง โดยไม่ต้องมีรัฐเข้าไปร่วมอีก
สำหรับขั้นตอนภายหลังจาก ครม. เห็นชอบแล้ว จะต้องดำเนินการลงนามในสัญญาต่อไป ซึ่งกำหนดการที่ระบุไว้คือภายใน ก.พ.62 และยืนยันว่าขั้นตอนการพิจารณาหาผู้ชนะประมูลถือว่ามีความโปร่งใส โดยกระทรวงพลังงานได้บันทึกข้อมูลเป็นวิดีโอในระหว่างคณะกรรมการปิโตรเลียมทำการเปิดซองประมูล โดยรัฐได้คัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและให้ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐสูงสุด โดยไม่มีการผูกขาดอย่างที่มีกลุ่มไม่เห็นด้วยกล่าวหาแน่นอน นอกจากนี้ กรณีที่บริษัทเชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง แพ้ประมูล ก็เชื่อว่าจะยังมีการลงทุนต่อในประเทศไทย เพราะขณะนี้เชฟรอนมีสัมปทานอยู่ในไทยถึง 22 แหล่ง มีมูลค่าลงทุนสูงมาก จึงต้องมีการลงทุนในไทยต่อไปอย่างแน่นอน “การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งใหม่ๆ ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เคยประกาศว่าอยากให้มีการเปิดสำรวจต้นปี 62 นั้น จะต้องมาพิจารณาความพร้อมและความเป็นไปได้ก่อนประกาศเป็นทางการอีกครั้ง”.