นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยผลจัดเก็บรายได้ช่วง 2 เดือนแรก (ต.ค.-พ.ย.) ของปีงบประมาณ 2562 ว่า ยอดการจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายประมาณ 10% โดยจัดเก็บได้ 19,000 ล้านบาท ทำให้ตลอดทั้งปีงบประมาณคาดว่า จะจัดเก็บเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 100,000 ล้านบาท เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้นทำให้การบริโภคในประเทศดีขึ้นตามไปด้วย โดยสินค้าประเภทรถยนต์เป็นสินค้าหลักที่มียอดการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นในระยะที่ผ่านมา ทำให้กรมศุลกากรกรจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยอุดช่องโหว่ของการจัดเก็บภาษีโดยเฉพาะด่านชายแดนเพื่อนบ้าน ที่อาจจะมีการลักลอบการนำเข้าสินค้าทางการเกษตร เช่น มะพร้าว กระเทียม เป็นต้น ทำให้ยอดการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
“การอุดช่องโหว่ในสินค้าเกษตรที่อาจจะมีการลักลอบนำเข้าตามด่านชายแดนเพื่อนบ้าน นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บของกรมศุลกากรให้ดียิ่งขึ้น ยังจะช่วยป้องกันไม่ให้เกษตรกรในประเทศได้รับผลกระทบจากการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในประเทศด้วย”
สำหรับแนวทางป้องกันการเลี่ยงภาษีการค้าผ่าน e-Commerce (อี-คอมเมิร์ซ) กรมศุลกากรได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากการค้าอี-คอมเมิร์ซมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีแผนจะติดตั้งเครื่องเอกซเรย์สินค้าในด่านศุลกากรไปรษณีย์หลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้การเอกซเรย์สินค้าทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในอนาคตจะเอกซเรย์สินค้าให้ได้ 100% จากปัจจุบันทำได้ 40% เนื่องจากปริมาณสินค้านำเข้าเป็นจำนวนมากขึ้น ขณะที่เครื่องเอกซเรย์มีไม่เพียงพอ ดังนั้น เมื่อได้เครื่องเอกซเรย์เข้ามาใช้งานเพิ่มแล้ว จะสามารถตรวจสอบสินค้าดีขึ้น”
ด้านนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 สคร. สามารถจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดิน 60,425 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,956 ล้านบาท หรือ 22% ของเป้าหมาย โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมจำนวน 49,032 ล้านบาท คิดเป็น 81% ของเงินนำส่งรายได้สะสมทั้งหมด.