คปภ.คลอดประกันภัย 7 บาทรับปีใหม่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

คปภ.คลอดประกันภัย 7 บาทรับปีใหม่

Date Time: 27 พ.ย. 2561 08:50 น.

Summary

  • คปภ.ได้หารือกับบริษัทประกันภัย เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงในการเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ของประชาชน

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า คปภ.ได้หารือกับบริษัทประกันภัย เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงในการเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ของประชาชน โดยนำแนวคิดประกันภัย 10 บาท มาต่อยอดเป็นกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม 7 บาท ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยที่ลดลงจาก 10 บาท เป็น 7 บาท และกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม 10 บาทพลัส ที่มีความคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาลด้วย โดยทั้งสองแบบ คุ้มครองเป็นระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ทำประกันภัย ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.นี้-31 ม.ค.2562 ผู้ที่มีสิทธิเอาประกันภัยต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปี-70 ปี

“กรมธรรม์ประกันภัย 7 บาท ให้ความคุ้มครองเหมือนกับประกันภัย 10 บาทเดิม โดยคุ้มครอง 3 กรณี อาทิ เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ มือ เท้า สูญเสียสายตา ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกายและ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ ได้รับความคุ้มครอง 100,000 บาท เป็นต้น”

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันชีวิต (ฉบับที่...) พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่...) พ.ศ. .... กลุ่มที่ 2 บทบัญญัติเกี่ยวกับการเสริมสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงของบริษัท (ร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยฯ กลุ่มที่ 2) ที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ. ประกันวินาศภัยฯ กลุ่มที่ 2 มีสาระสำคัญๆ ในการแก้ไขเพิ่มเติม อาทิ แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของกรรมการ เป็นต้น

โดยร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยมีความพร้อมของระบบงานและบุคลากร ตลอดจนระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับฐานะการเงิน และการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย ให้เป็นรูปธรรมและลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับภาคธุรกิจ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ