การได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้าที่กลายเป็น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน มีผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้ามฟากมายังเป้าหมายใหญ่ ประเทศจีน รวมถึงสหภาพยุโรป ล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากการที่ สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม เปลี่ยนจาก สนามการค้าเป็นสนามรบ ทันที
ใน เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ผลกระทบจาก สงครามการค้า จีน-สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกันแล้ว ใหญ่กว่าเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่มีขนาด 3.5 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 13 ล้านล้านบาท มูลค่าดังกล่าวยังไม่รวมกับผลกระทบที่เกิดจากมาตรการทางด้านภาษีที่สหรัฐฯประกาศใช้กับสหภาพยุโรป
การค้าที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของ องค์การการค้าโลก หรือ WTO แทบจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ การตอบโต้ขยายวงสู่การลงทุนและระบบการเงิน การบริการ ซึ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่รู้จักกันในนาม IMF ได้มีการปรับลด จีดีพี ของเศรษฐกิจโลกจากความเสี่ยงของสงครามการค้าครั้งนี้ ที่ทำให้เกิดความเปราะบางทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราการขยายตัวของปริมาณการค้าโลก ในปี 2561 จะโตที่ร้อยละ 4.2 ในปีนี้ และร้อยละ 4 ในปีหน้า
หันมามอง ประเทศไทย เศรษฐกิจประเทศเล็กกว่าประเทศที่ประกาศสงครามใส่กันมาก ในภาวะน้ำท่วมปาก จะปรับตัวอย่างไรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้โตอย่างต่อเนื่องได้ ผ่านมรสุมสงครามการค้าให้ได้
เช่นการพึ่งพาตลาดในประเทศต่อไป หรือจะหาตลาดใหม่ๆ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องระดมสมองจากกูรูทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง การตลาด การบริการและการสื่อสาร เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ ดึงจุดแข็งมาชดเชยจุดอ่อน โดยไม่คำนึงว่าการเมืองจะมีทิศทางอย่างไร
ภาคอุตสาหกรรมและการบริการของไทย มีจุดเด่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด แสวงหาลู่ทางการค้า การลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เพราะฉะนั้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออนาคตของประเทศจึงต้องฝากไว้กับภาคเอกชนและภาคประชาชนเป็นหลัก
ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา เอกชนไทยบุกเบิกอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมโลก ทั้งด้านอาหาร เสื้อผ้า ปูนซีเมนต์ ปศุสัตว์ การบริการ ไม่ว่าจะเป็นในเอเชีย ยุโรป หรือ อเมริกา ที่รู้จักกันดีก็คือ ซีพี และบริษัทในเครือ จนทำให้มีการต่อยอดธุรกิจอย่างต่อเนื่องใน 9 เดือนแรกของปีนี้ ซีพีเอฟ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร มียอดขาย กว่า 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เป็นรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ ถึงร้อยละ 76 ของรายได้รวม จากการเข้าไปลงทุนใน 16 ประเทศทั่วโลก ตั้งเป้าจะมียอดขายรวม 6 แสนล้านในอีก 5 ปีข้างหน้า
หนทางของธุรกิจไม่ได้เดินบนกลีบกุหลาบเสมอไป กว่าจะถึงวันนี้ได้ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย รวมถึงสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯในปัจจุบันด้วย เพียงแต่ว่าจะต้องหาจุดสมดุลที่เรียกว่า โอกาส ให้ได้
หาทางพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th