“กอบศักดิ์” คิดบวกปีหน้าโต 4.5% นักเศรษฐศาสตร์สวนเศรษฐกิจไปได้แค่ 3%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“กอบศักดิ์” คิดบวกปีหน้าโต 4.5% นักเศรษฐศาสตร์สวนเศรษฐกิจไปได้แค่ 3%

Date Time: 23 พ.ย. 2561 07:15 น.

Summary

  • “กอบศักดิ์” มั่นใจเศรษฐกิจไทยฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลกผันผวนในปีหน้าได้ คาดโต 4–4.5% ชี้เลือกตั้งจะหนุนส่งให้เศรษฐกิจภายในคึกคัก ...

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“กอบศักดิ์” มั่นใจเศรษฐกิจไทยฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลกผันผวนในปีหน้าได้ คาดโต 4–4.5% ชี้เลือกตั้งจะหนุนส่งให้เศรษฐกิจภายในคึกคัก ด้านนักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เศรษฐกิจไทยพ้นจุดสูงสุดแล้วในครึ่งแรก พร้อมชี้ชัดปีหน้าโตได้แค่ 3% ปลายๆ ขณะที่ผู้ว่าการ ธปท. ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยง คือ สงครามการค้า–ตลาดเงินทุนโลกผันผวน–เสถียรภาพการเงินในประเทศ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2019” ในงานสัมมนาสมาคมการค้าว่า ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว รวมทั้งมีความเสี่ยงและความผันผวนสูงขึ้น ผลจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และความอ่อนแอของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เช่น อาร์เจนตินา ตุรกี แอฟริกาใต้ ดังนั้น ทิศทางของเศรษฐกิจภายนอกประเทศจะไม่สดใส แต่ก็มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 4-4.5% ต่อเนื่องจากในปี 2561 ที่จะขยายตัวประมาณ 4.2-4.3% เนื่องจากรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมด้านการบริโภคและการลงทุนในโครงการต่างๆ ภายในประเทศไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แม้จะมีการเลือกตั้งและเปลี่ยนรัฐบาล โครงการเหล่านี้ก็ยังจะเดินหน้าต่อเนื่อง

“ตัวเลขส่งออกเดือน ต.ค.ที่ขยายตัว 8.7% ทำให้สบายใจขึ้นมาในระดับหนึ่ง หากการส่งออกเดือน พ.ย.เติบโตในระดับ 7-8% เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้น่าจะอยู่ในระดับ 4.2-4.3% ส่วนการเลือกตั้งมั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.ปีหน้า ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาเมื่อมีการเลือกตั้งเศรษฐกิจภายในประเทศก็จะคึกคักขึ้น รัฐบาลจะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ พร้อมเตรียมการสำหรับโครงการต่างๆนี้ โดยจะทำให้ครอบคลุมการเบิกจ่ายโครงการสำคัญหลังเลือกตั้งด้วยเพื่อไม่ให้การใช้จ่ายภายในสะดุด ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีความสำคัญมากในช่วงที่เศรษฐกิจภายนอกมีความผันผวน”

ส่วนกรณีที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น นายกอบศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะค่อยๆ ส่งสัญญาณเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยเห็นได้จากก่อนหน้านี้จำนวนเสียง กนง.ที่มีความเห็นเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยขยับมาอยู่ใกล้เคียงกันที่ 4 : 3 จากเดิมที่ 1 : 6 ซึ่งก็คง เป็นช่วงที่ กนง.สื่อสารว่ากำลังจะปรับขึ้นดอกเบี้ย

วันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ปี 2561 TEA Annual Forum 2018 ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยปี 2562 มองไปข้างหน้า” สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอมุมมองผ่านนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่ง ของคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน), นายชนินทร์ มโนกินิเวส นักเศรษฐศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก, นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี (ไทย) และนางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

โดยนายพิพัฒน์กล่าวว่า ครึ่งปีแรกของปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.8% ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ฟื้นตัวสูงสุดของเศรษฐกิจไทยแล้ว ขณะที่ไตรมาส 3 เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 3.3% จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง แม้ว่าการส่งออกในเดือน ต.ค.จะกลับมาขยายตัว 8.7% แต่ก็ต้องดูผลที่จะกระทบในระยะต่อไป โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป แม้ว่าจะเติบโตต่อเนื่อง แต่เป็นการเติบโตที่ช้าลง ในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยปีนี้จากเดิมที่ประมาณการไว้ว่าจะขยายตัวที่ 4.5% คาดว่าจะเหลือการขยายตัวในระดับ 4% ต้นๆ ต่ำกว่า 4.3% เล็กน้อย

ขณะที่ปี 2562 การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะไม่ถึง 4% อยู่ที่ประมาณ 3%ปลายๆ สอดคล้องกับนายชนินทร์ กล่าวว่าแม้ธนาคารโลกจะประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 4.5% แต่จากปัจจัยการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ปรับลดลง เชื่อว่าจะมีการปรับประมาณการลงเหลือ 4% ต้นๆ ขณะที่ปีหน้าอยู่ประมาณ 3% ปลายๆ ขณะที่มุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2562 ของนายอมรเทพ ประมาณการว่า เศรษฐกิจไทยปี 2561 และปี 2562 จะเติบโตเท่ากันที่ 4%

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปีหน้า ว่าปัจจัยแรก คือ บรรยากาศของเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนไปโดยสงครามการค้า ปัจจัยที่ 2 คือ ความผันผวนในตลาดทุนโลก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกกำลังปรับขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ ปัจจัยที่ 3 คือ เสถียรภาพการเงิน ซึ่งเกิดขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมายาวนาน ส่งผลให้นักลงทุน และประชาชนจำนวนหนึ่ง ประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินกว่าความจริง และหากลงทุนมีความเสียหาย ถูกหลอกลวงและเกิดวิกฤติขึ้นจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายและการชำระหนี้ ของประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องทั้งระบบได้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ